11 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาส เดินทางไปที่วัดโพธิ์ไชย หมู่ 7 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสงคราม หลังทราบจากนายศรีสุวรรณ ยศไชยวิบูลย์ อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 37/1 หมู่ 7 ต.ไชยบุรี ว่าทางวัดมีการปรับปรุงหลังคาศาลาการเปรียญบางส่วนใหม่ จากเดิมบริเวณใต้หลังคาเคยมีค้างคาวมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีมูลค้างคาวอยู่เต็มบริเวณศาลาชั้นสอง และส่งกลิ่นเหม็นรบกวนจนไม่สามารถทำกิจของสงฆ์ได้ จึงต้องย้ายสิ่งของลงมาชั้นล่างของศาลาฯ
ต่อมาพระมหาปรัชญา ธีรปัญฺโญ เจ้าคณะตำบลท่าจำปา เขต 2 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ไชย และพระอธิการบุญทวี จิตตมโล ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดรวมพรรัศมีธรรม ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนหลังคาจากเดิมเป็นแบบทึบทั้งหมด เปลี่ยนเป็นแบบแผ่นใสในบางจุด เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบแสง และออกหากินตอนกลางคืน ผลที่ได้สามารถลดจำนวนค้างคาวที่มาอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาได้
แต่ยังคงมีค้างคาวบางส่วนที่ยังคงเข้ามาอยู่อาศัยและถ่ายมูลทิ้งไว้ ก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นแบบภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ จากเดิมทั้งพระ เณร และฆราวาสต้องช่วยกันกวาดมูลค้างคาวทุกวัน มาเป็นกวาดเก็บอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น
ทางด้าน เจ้าอาวาสยัง กล่าวว่า หากมีใครที่มีวิธีที่สามารถป้องกันการเข้ามาอาศัยของค้างคาวได้ อยากให้ลองเข้ามาดูและแนะนำการให้กับทางวัด เพราะทางวัดจะได้มีพื้นที่ไว้ทำกิจวัตรเพิ่มขึ้นอีก โดยโทรศัพท์ให้รายละเอียดที่ได้เบอร์ 095-4985990,083-4952819
ประวัติการสร้างวัดโพธิ์ไชย สร้างเมื่อ พ.ศ.2416 ซึ่งเป็นเอกสารที่พระครูไชยบุรีคุณาธร หรือหลวงปู่คำตัน วราโก อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ได้ส่งต่อกรมการศาสนา แต่ตามจดหมายเหตุของขุนหลวงชำอุเทนดิษฐ์ (บันทึกตำนานเมืองไชยบุรี) บันทึกไว้ว่า “เมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พ.ศ.2371 เจ้าอนุวงค์เมืองเวียงจันทน์ ได้กลับจาเมืองญวน มาทำการกบฏต่อกรุงทพมหานครอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้คิดการใหญ่มาก แต่ก็พ่ายแพ้กลับไปเมืองญวนอีก ฝ่ายกองทัพไทยก็ติดตามจับตัวมาได้ ส่งตัวลงไปกรุงเทพมหานคร แล้วเจ้าพญาบดินทร์ได้จัดให้พระวิชิตสงคราม เป็นแม่ทัพกองหนึ่งคุมไพร่พลเมืองอุบล เมืองยโสธร 180 คน ไปตั้งรักษาปากน้ำสงครามที่เมืองไชยสุทธิ์อุตตมะบุรี(ก่อนหน้านี้เคยเป็นเมืองร้างมา 1 ปี)
เมื่อการศึกสงครามกับเมืองลาวสงบราบคาบแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ราชวงศ์เสนเมืองอุบล มาเป็นเจ้าเมืองไชยสุทธิ์อุตตมะบุรี มีคณะกรรมการเมืองซึ่งมาจากเขมราฐ เมืองอุบล เมืองยโสธร อีกจำนวนมาก ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและบ้านเมืองที่ทรุดโทรมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ ต่อมาก็ได้สร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด คือ วัดศรีบุญเรือง วัดยอดแก้ว และ วัดโพธิ์ชัย (ปัจจุบันทั้งวัดศรีบุญเรืองและวัดยอดแก้วกลายเป็นวัดร้าง) คงเหลือแต่วัดโพธิ์ชัยที่มีพระภิกษุจำพรรษาตลอด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี