ชำแหละ ใครเป็นใคร? เอ็นจีโอ กลุ่มต่อต้าน
ประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องรับรู้เพื่อเป็นข้อมูลคือ กลุ่มผู้ “เห็นต่าง” หรือ “คัดค้าน” การก่อสร้างเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะจ.สงขลา เป็นกลุ่มที่ “จัดตั้ง” โดย องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายในการคัดค้าน “เมืองต้นแบบที่ 4” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงอย่างเดียว
แต่เป็นกลุ่มที่ “เห็นต่าง” และ “คัดค้าน” ทุกโครงการที่เป็นการสร้าง “อุตสาหกรรม” โดยเริ่มตั้งแต่การคัดค้านการสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน ค้านการตั้งโรงไฟฟ้าจะนะ เฟส 1 เฟส 2 ค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต.คู และ ต.แค อ.จะนะ ค้านท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ที่ ต.นาทับอ.จะนะ ค้านท่าเรือน้ำลึกและโครงการอุตสาหกรรมที่ อ.ละงู จ.สตูล ค้านการตั้งเหมืองหินทุกแห่งในภาคใต้
ทั้งนี้ การต่อต้านในครั้งนี้นั้น กลุ่ม “เห็นต่าง” หรือ “คัดค้าน” ที่เป็นคนในพื้นที่ อ.จะนะ จริงๆ นั้น มีอยู่ไม่เกิน 200 คน เป็น 200 คน ที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านเสียร้อยละ 80 และเป็นครอบครัวที่ถูก เอ็นจีโอ ปลูกฝังให้เป็นนักอนุรักษ์ แบบส่งผ่านจากรุ่นพ่อถึงรุ่นลูก โดยเชื่ออย่างฝังหัวว่า อุตสาหกรรมทุกชนิด คือ การทำลายล้าง และการพัฒนาภาคใต้ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่มีอุตสาหกรรม ไม่มีท่าเรือน้ำลึก โดยมีเครือข่าย นักวิชาการ(บางคน) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นผู้ขับเคลื่อน สนับสนุนทางวิชาการ เพื่อชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่เข้ามาจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ท้องทะเล และเกิดการ “กัดเซาะ” ชายฝั่งอย่างรุนแรง ในขณะที่ ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ก็จะอ้างเรื่อง“สิทธิมนุษยชน” เช่นถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ขบวนการของที่มา ที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่การอนุมัติของ ครม. และการให้ความรู้ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่
และวิธีการที่ เอ็นจีโอใช้จนกลายเป็นเรื่อง ปกติไปแล้ว ในขณะนี้ คือการร้องเรียนผ่าน องค์กรสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น”เพื่อให้บีบรัฐบาลให้ยุติโครงการ และการทำ “ไอโอ”ผ่าน “สื่อ” ที่อยู่ในเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เห็นถึงความเป็น“สากล”
และที่สำคัญ “หลังบ้าน” ของผู้นำองค์กรทั้ง “การเมือง” และ “เศรษฐกิจ” เป็นคนในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่คอยชี้นำ บงการอยู่ ดังนั้นจะเห็นว่า หลายๆ โครงการที่ผ่านมา มักจะมีอาการ “สะดุด” หรือถูกผู้มีอำนาจจะให้ “ชะลอ” ด้วยการศึกษาเพิ่มฟังความคิดเห็นเพิ่ม เพื่อเป็นการ “เอาใจ” หลังบ้าน
ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริง เรื่องของกลุ่มคัดค้าน โครงการเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ ถ้ามองทุกมิติจะพบว่า ผู้คัดค้านเป็นกลุ่มเดิมเกือบทั้งหมด ที่เริ่มจากการคัดค้านโครงการท่อก๊าซเมื่อ 20 ปี ก่อน และเป็นกลุ่มที่ค้านทุกอย่างตามที่ เอ็นจีโอ ชักนำ ไม่ใช่เฉพาะ เมืองต้นแบบที่ 4 เท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะฝ่ายค้านที่มีการ “จัดตั้ง” เพื่อเป็นเครื่องมือของเอ็นจีโอ ในการคัดค้านทุกโครงการต่างๆ ในภาคใต้
และที่สำคัญ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประมงพื้นที่ ที่ออกมาคัดค้าน เพราะประมงพื้นที่ใน อ.จะนะ ไม่ได้มีเพียง 200 คน แต่มีเป็น 10,000 คน ที่ไม่ได้คัดค้าน โครงการนี้
และเมืองต้นแบบที่ 4 ที่จะดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ไม่ต้องย้ายสุสาน (กุโบร์) ไม่ต้องย้ายศาสนสถาน (มัสยิด) เพราะพื้นที่ 17,000 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งโครงการนั้น เป็นของกลุ่มผู้ประกอบการอยู่แล้ว
ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ที่เป็นที่ตั้งโครงการ คือ ต.นาทับ, ตลิ่งชัน, และสะกอม จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของการเวนคืน และเรื่องการโยกย้ายกุโบร์ และ มัสยิด
อีกประเด็นหนึ่ง ที่สังคมต้องรับรู้คือ กลุ่มผู้คัดค้าน ที่เป็นเอ็นจีโอ รวมทั้งเครือข่ายนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ต่าง “มีธง” ในการ “ไม่เอา” อุตสาหกรรมทุกรูปแบบและไม่มีทางที่จะ “โยกคลอน” ให้คนกลุ่มนี้ “เห็นด้วย” แม้จะมีเวทีให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ก็ไม่มีประโยชน์อย่างใด เพราะเขาเข้าไปในเวทีเพื่อคัดค้านอย่างเดียว ดังนั้น ต่อให้ทุกเวที เปิดให้กลุ่มนี้ไปแสดงความคิดเห็นสิ่งที่ได้รับคือ เลิกโครงการนี้อย่างเด็ดขาด
ดังนั้น การที่ เอ็นจีโอ อ้างว่าไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นจึงเป็นเพียง “วาทกรรม” ที่มิใช่ความจริงเป็นการฉวยโอกาสในการทำ “ไอโอ” เพื่อให้สังคมเห็นว่า ขบวนการทั้งหมด ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำมาโดยตลอดกว่า 12 เดือน เป็นเรื่องไม่ชอบธรรม
สิ่งที่สังคมควรรับรู้ เอ็นจีโอ กลุ่มนี้ เคยใช้ “วิชามาร”ในการล้มเวลารับฟังความคิดเห็น เวทีประชาพิจารณ์ค 1 ค 2 ของ โครงการต่างๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกอ.ละงู จ.สตูล โครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 จ.สงขลาด้วยการบุกเข้าไปปิดทางเข้า-ออกของเวที ยึดเวที ทำลายข้าวของบนเวที เพื่อล้มเวที โดยยอมแลกกับการถูกจับกุม ดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้คดีทั้ง 2 คดี ยังอยู่ที่ศาลจังหวัดสตูล และ จ.สงขลา
ดังนั้นในการทำเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น จึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันการบุกยึดเวทีของเอ็นจีโอ ด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาเอ็นจีโอ เคยใช้วิธีการเหล่านี้ สร้างความปั่นป่วน ให้เกิดขึ้นขณะที่เอ็นจีโอ และเครือข่าย นักวิชาการ จึงนำประเด็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ในการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการยึดเวทีของ เอ็นจีโอ มาเป็น “วาทกรรม” กล่าวโจมตี การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ไม่ “โปร่งใส” กีดกันกลุ่มผู้ “เห็นต่าง” ไม่ให้เข้าร่วมเวที ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง เอ็นจีโอ ต่างหากที่เป็นผู้วาง “กลยุทธ์” เพื่อล้มเวที ทุกครั้งที่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน
ในขณะที่ เอ็นจีโอ กล่าวหารัฐบาล ที่เป็นผู้อนุมัติโครงการ กล่าวหา ศอ.บต. ที่รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เป็นผู้ขับเคลื่อน โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 นั้น เอ็นจีโอลืมกล่าวหาตนเองว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในขณะที่เอ็นจีโอ ขอให้คนอื่น เคารพสิทธิของตนเองนั้น ตนเองกลับลิดรอนสิทธิ์ของคนอื่นๆ ที่เป็นคนที่ “เห็นด้วย” กับโครงการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า เอ็นจีโอ หลายเท่านัก
และในขณะที่ เอ็นจีโอ กล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐสร้างความแตกแยกในชุมชนนั้น เอ็นจีโอ กลับเป็นผู้สร้างความ “แตกแยก” เองด้วยการกล่าวหาว่า คนที่ “เห็นด้วย” รับเงิน เพื่อไปแสดงความเห็นด้วยกับโครงการ และเป็นกลุ่มที่เป็น “คนโง่” ที่ไปสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมในพื้นที่ เหมือนกับว่า ใครที่อยู่กับเอ็นจีโอคนนั้นฉลาด ใครที่เห็นด้วยกับรัฐ เป็นคนที่ถูก “สนตะพาย”จึงมีคำถามว่า ใครกับแน่ที่สร้างความแตกแยกให้กับชุมชน
ตอนต่อไป จะรายงานถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติกับประชาชน และคนในพื้นที่ที่จะได้รับการเกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศมองเห็นและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจที่จะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกัน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาเพื่อลบประวัติศาสตร์หน้าเก่าที่เต็มไปด้วย เสียงปืน
เสียงระเบิด ความตาย ที่เกิดขึ้นยาวนานถึง 16 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี