เปิดผลโพลเทียบ‘พฤติกรรมสุขภาพ’คนไทย ก่อน-หลัง‘โควิด’ระบาด
9 สิงหาคม 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,123 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2563 หัวข้อ “การดูแลสุขภาพของประชาชนหลังมีโควิด-19 ระบาด” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีสถานการณ์โควิด-19 ณ วันนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญและคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก ทำให้หลายคนตระหนักและหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ สรุปผลได้ ดังนี้
# การระมัดระวังดูแลสุขภาพของประชาชนเมื่อเปรียบเทียบ “ก่อน และ หลังมีโควิด-19 ระบาด” เป็นอย่างไร?
ด้านนางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจดังกล่าว พบว่า พฤติกรรมด้านสุขภาพที่ประชาชนปฏิบัติมากขึ้น ได้แก่ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ร้อยละ 80.59 รองลงมาคือ ซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด -19 ร้อยละ 75.78 ส่วนพฤติกรรมที่ปฏิบัติเท่าเดิม คือ การทำงานอดิเรกต่าง ๆ ร้อยละ 56.01 และพฤติกรรมที่ปฏิบัติลดลงมากที่สุด คือ การไปสถานบันเทิง สถานที่แออัด ร้อยละ 76.58
จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 คนไทยมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทิศทาง “มากขึ้น” ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยเฉพาะปัจจัยด้านยารักษาโรคที่พบว่าคนไทยมีการตระเตรียมซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น และนอกจากจะซื้อเพื่อตนเองแล้ว ยังดูแลเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย พฤติกรรมป้องกันโควิด-19 ด้วยตนเองอย่างเคร่งครัดของคนไทยเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยค่อนข้างหวั่นไหวกับโอกาสการระบาดระลอกสองที่นักวิชาการด้านสุขภาพและนักระบาดวิทยาต่างออกมาเตือนคนไทยให้กำกับพฤติกรรมตนตามวิถีใหม่ (New Normal) ให้เหนียวแน่น ผลโพลของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการระบาดนี้ต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอย่างชัดเจน กล่าวคือพฤติกรรมเชิงป้องกันตนเองเพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคลดต่ำลง รวมทั้งการค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การตรวจสุขภาพ อันเป็นพฤติกรรมที่บุคลากรสุขภาพคาดหวังให้ประชาชนประพฤติปฏิบัตินั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย
“อาจกล่าวได้ว่าวิกฤติการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ (Health Protection) ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับแรก จึงขอเสนอ “การ์ดอย่าตกเพื่อปกป้องตัวคุณ คนที่รักและครอบครัว” เป็นสโลแกนป้องกันการระบาดรอบใหม่ไว้ ณ ที่นี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี