วันที่ 20 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายบทบาทภารกิจของ GISTDA โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ GISTDA และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ
ภายหลังจากการเยี่ยมชม รมว.อว. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเรา เรียกว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะที่เราส่งไปเรียนหรือฝึกเองตามสาขาต่างๆ เวลานี้กำลังไปได้ดี ผมดูมาหลายที่รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นเป็นเช่นนั้น และวันนี้ได้มีโอกาสมาที่ GISTDA เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง งานด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทยเราถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ GISTDA ทำเปรียบเทียบทั้งด้านสมรรถนะและศักยภาพในงานด้านนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ว่าเราทำได้ในระดับไหน เขาทำได้ในระดับไหน แนวทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านควรทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคนี้
รมว.อว. กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการพัฒนากำลังคนอย่างที่เกริ่นไปตอนแรก ก็เห็นว่าขณะนี้บุคลากรของ GISTDA ที่ส่งไปเรียนได้เริ่มกลับมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งสามารถออกแบบและผลิตเครื่องมือ รวมถึงโซลูชั่นต่างๆ ได้น่าสนใจและมีความหลากหลาย ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงสรรพกำลังของมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้สิ่งเหล่านี้มีพลังที่มากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องของการเรียนการสอนหลักสูตร SCGI Master Program ระดับปริญญาโทนานาชาติ สาขาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GISTDA มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาโควิด-19 และตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว
รมว.อว. ยังกล่าวต่อไปอีกว่า งานด้านอวกาศถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นไปได้ คือเรื่อง spaceport หรือท่าอวกาศยาน หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่จริงๆ แล้วจะมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต แต่ spaceport จะใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวด รับดาวเทียมกลับสู่โลกด้วย ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบและเหมาะสมเป็น 1 ใน 7 ของโลก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ใกล้ทะเลทั้ง 2 ฝั่งคืออ่าวไทยและอันดามัน โดยเบื้องต้นผมได้ให้ GISTDA ทำข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม การทำ spaceport จะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงให้คนเก่งจากทั่วโลกมารวมตัวกันทำเรื่องจรวดและดาวเทียม ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจด้านอวกาศในประเทศ เกิดการสร้างรายได้เข้าประเทศ เกิดการจ้างงาน ประชาชนจะกินดีอยู่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย ถามว่าทำไมเราต้องทำเทคโนโลยีมากมาย สาเหตุเพราะเราต้องการให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังอย่างที่สุด ไม่ใช้จ่ายเงินทองแบบฟุ่มเฟื่อยและไม่มีเป้าหมาย ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเอง ก็ให้ความสำคัญและสนใจกับงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก และพูดถึงงานของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อยู่บ่อยครั้ง
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ GISTDA ได้ต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ต้นน้ำและเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศท่ามกลางการแข่งขันในยุคแห่งโลกนวัตกรรม โดยเป้าหมายของ GISTDA คือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา GISTDA ได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขั้นสูงที่เรียกว่าอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบัน GISTDA เองก็มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ บุคลากร และองค์ความรู้ที่พร้อมสำหรับการดำเนินงานทางด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะก้าวสู่อุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มตัว บทบาทของ GISTDA ต่อภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศเฉพาะในประเทศเท่านั้น เรายังจะยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันด้านธุรกิจอวกาศในอนาคตไปสู่ระดับสากลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ GISTDA ให้ความสำคัญมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างกำลังคน การสร้างอาชีพ การสร้างรายได้ และวิถีชีวิตใหม่ให้กับสังคมไทย โดยที่นโยบายในการพัฒนาดังกล่าวจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ที่ว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดาวเทียม โดยใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียมที่เรามีอยู่ภายใต้โครงการระบบธีออส-2 ซึ่งมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลพร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศให้กับประเทศ
นอกจาก GISTDA จะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในส่วนต้นน้ำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น GISTDA ยังมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศตามภารกิจที่สำคัญของประเทศอีกด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น ใช้งบประมาณที่น้อยลง หรือแม้กระทั่งเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสักบาทเดียว ในช่วงหลายปีมานี้หลายภาคส่วนยอมรับ GISTDA ในฐานะผู้นำด้านการผลิตข้อมูลและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA ตัวอย่างเช่น ระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม หรือ G-MOS เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำ เมืองและชุมชน การเกษตร และภัยพิบัติ โดยข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของ GISTDA จะช่วยให้หน่วยงานระดับนโยบายมองเห็นภาพรวมของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงงานวิจัยว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมอวกาศหรือไม่อย่างไร ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งานวิจัยถือเป็นอีก 1 งานที่สำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สัมฤทธิ์ผล และต้องพร้อมที่จะนำไปสู่การใช้งานได้อย่างจริงจังในสังคมไทย โดย GISTDA พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นแนวหน้า ที่เรียกว่า “การวิจัยวิทยาศาสตร์ระบบโลกและอวกาศ” หรือ Earth Space Science Frontier Research & Development & Innovation ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและบุคลากรไทยที่สนใจเข้าร่วมในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่อยอด ทั้งในลักษณะการ Spin-Off หรือจัดตั้ง Start-Up เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของชาติได้ อย่างเช่น การผลิตยารักษาโรคแบบใหม่ที่ต้องอาศัยสภาวะแรงโน้มถ่วงจากอวกาศของทางไบโอเทค หรือการสร้างความปลอยภัยให้กับอวกาศไทย โดยผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Space Consortium เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายส่วนที่กล่าวมานั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ GISTDA พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น Active Facilitator ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับทุกภาคส่วนอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศชาติที่มีอยู่มากมายหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดนั่นเอง ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี