‘กรมปศุสัตว์’ส่งชุดพญาไทขยายผลต่อเนื่อง เจออีกเพียบ‘เนื้อโคปลอม’ แปลงเนื้อหมูใส่สีขายอนไลน์เข้า กทม.
12 พฤศจิกายน 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์เขต7 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ชุดปฏิบัติการที่ 2 กก.1 บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบบ้านต้องสงสัยเกี่ยวกับการลักลอบนำเนื้อสุกรมาดัดแปลงใส่สีให้ดูเหมือนเนื้อโคเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งขายซากโคในรูปแบบออนไลน์ ส่งขายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความผิดตามมาตรา 38 จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มิได้รับรองให้จำหน่าย โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดซากโคกว่า 300 กิโลกรัม และได้นำตัวอย่างเนื้อโคส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหา DNA สุกร และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ห้องปฏิบัติการรายงานผลซากโคที่อายัดไว้ ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย จำนวน 3 ตัวอย่าง และตรวจพบ DNA สุกร จำนวน 4 ตัวอย่าง
จากนั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท นำโดยนายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุดฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ชุดปฏิบัติการที่ 2 กก.1 บก.ปคบ. นำโดย พ.ต.ท.เกียรติชัย แสงศิลา สว.กก.1 บก.ปคบ. ได้เข้าถอนอายัดซากโคชุดดังกล่าว เพื่อนำไปทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ด่านกักกันสัตว์นครปฐม ในส่วนของเนื้อโคที่ตรวจพบเป็น DNA ของสุกร มอบให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขณะเข้าตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว ได้พบรถบรรทุกเนื้อโคเตรียมส่งจำหน่ายที่ตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณกว่า 100 กิโลกรัม เนื้อโคทั้งหมดที่เตรียมไปจำหน่ายนั้น ไม่ทราบแหล่งที่มา และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่าย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดเนื้อโคต้องสงสัยไว้ และเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหา DNA ของสุกร และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย หากพบว่าตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย และพบ DNA สุกร พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และนำเนื้อโคดังกล่าวไปทำลายตามระเบียบทางราชการต่อไป
ขณะที่หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และเข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา , พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2562 ต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ อยากฝากไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนทั่วไป ขอให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการผลิตและสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ โดยกรมปศุสัตว์ สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค สามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK. โดยหากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการกระทำผิด สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทุกระบบ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี