“เสมา1” เตรียมพัฒนาคนรองรับสถานการณ์โลก หลังหารือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ที่ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานร่วมกัน เนื่องจากแผนงานการพัฒนาประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแผนงานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ ศธ. เพราะศธ.เป็นหน่วยงานในการพัฒนาคน โดยตนได้อธิบายและเสนอแผนงานในการพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ไป เช่น การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดต่างๆ การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เป็นต้น จากการหารือเรื่องการพัฒนาคนด้านกีฬา ที่ประชุมเห็นว่ากีฬาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดมากขึ้นในชีวิตประจำวันของนักเรียน
ซึ่งขณะนี้ ศธ.มีแนวคิดที่จะผลักดันเรื่องกีฬาในชีวิตประจำวันของนักเรียน โดยให้นักเรียนเล่นกีฬาเพื่ออกกำลังกาย ประมาณ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสกีฬาที่หลากหลาย และค้นหาความถนัดของตนเอง เช่น การจัดกีฬาสีภายในโรงเรียน หรือจัดแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ๆ ส่วนจะผลักดันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนของแต่ละโรงเรียน หรือการพัฒนาครูให้มีทักษะด้านกีฬามากขึ้น ซึ่งต่อไป ศธ.จะสรุปข้อมูลจำนวนครูที่สนใจเข้าร่วมฝึกกีฬาชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะครูให้ครูสามารถฝึกสอนนักเรียนได้ ทั้งนี้ ตนหวังว่าถ้า ศธ.ลดภาระครูลง เชื่อว่าครูจะมีเวลาในการเรียนการสอนและมีเวลาร่วมกิจกรรมอื่น ๆมากขึ้น
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ที่ประชุมเสนอว่าอาจจะต้องมีการปรับการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างจังหวัด ผ่านการทัศนศึกษา หรือรับข้อจากมูลกระกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน หรือจะร่วมมือการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่นด้วยตนเอง เชื่อว่า ศธ.และวธ.สามารถแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกันได้ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นความสำคัญในการรักษาวัฒนธรรมของตน
"ส่วนการร่วมมือด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัล, การพัฒนาครูต้นแบบด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี, การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบทักษะศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการจัดทำข้อมูลสารสนเทศกำลังคนที่มีความสามารถพิเศษของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ศธ.ได้วางแผนพัฒนาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะสามารถพัฒนาได้มากแค่ไหน ต้องวางแนวการพัฒนาอีกครั้ง ส่วนความร่วมมือพัฒนาแรงงานนั้น ถ้า ศธ.สามารถพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น มีห้องปฏิบัติการต่างๆในระดับชั้นประถมศึกษาเพื่อเสริมทักษะด้านอาชีพ และทักษะชีวิตให้กับนักเรียน ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถตัดสินใจอนาคตตัวเองได้ว่าต้องการเรียนต่อสายอาชีพ หรือสายสามัญ ทั้งหมดนี้ก็กลับมาที่ ศธ.ที่ต้องผลักดันให้แต่ละโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 2,000 คน หรือ 1,500 คน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพ โดย ศธ.ได้แลกเปลี่ยนแผนการทำงานกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ซึ่งผมคิดว่ามีแนวทางปฏิบัติที่คล้ายกัน เพียงแต่ในส่วนของศธ.จะต้องพัฒนาเรื่องเหล่านี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะถ้าเราทำงานช้าจะไม่ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน" นายณัฏฐพล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี