วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงการเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ว่า ภายหลังจากที่ ศธ. ประกาศเลื่อนการเปิดเทอม จากวันที่ 17 พ.ค. ออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 ศธ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมความพร้อมรับเปิดเทอมไว้เป็น 2 ช่วง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-1 มิ.ย. เป็นช่วงเวลาที่เด็กยังไม่ได้ไปโรงเรียน ศธ.มีความเป็นห่วงผู้ปกครองที่อาจจะกังวลว่าในช่วงนั้นลูกหลานอาจจะต้องมีกิจกรรมอะไรทำ ประกอบกับศธ.คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ๆ เนื่องจากช่วงนี้สถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังไม่ปกติ ดังนั้น ขบวนการเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าในช่วง 11 วัน ระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-1 มิ.ย. จะมีกิจกรรมให้กับนักเรียน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆแรก เป็นกลุ่มออนไลน์ สำหรับเด็กที่มีความพร้อมและสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ ส่วนกลุ่ม 2 ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้(ออฟไลน์) ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารองค์กรหลัก ได้รวมตัวกันที่จะจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้ โดยทุกหน่วยงานจะจัดส่งข้อมูลกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและช่วงชั้นของนักเรียนมาไว้ในเวบกลาง เพื่อเป็นข้อมูลสื่อสารหรือแหล่งองค์ความรู้และทักษะชีวิตให้กับผู้เรียน
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ ก็ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษาธิการจังหวัด สอบถามกับทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)จังหวัด พิจารณาว่ากิจกรรมใดที่เด็กๆสามารถทำได้บ้าง ก็ให้ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสมให้กับนักเรียน ซึ่งขณะนี้ ศธ.ก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ที่จะนำติวเตอร์ที่มีชื่อเสียง และผู้ที่มีชื่อเสียงทางการสอนศิลปะเข้ามาช่วยให้ความรู้กับเยาวชน ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็จะมาช่วยส่งเสริมความรู้ด้านอาชีพให้กับผู้ปกครองและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะจัดขึ้นให้เด็กทั้งกลุ่มออนไลน์และกลุ่มออฟไลน์ ศธ.ไม่ได้บังคับว่าทุกโรงเรียนจะต้องทำ เพราะศธ.คำนึงถึงความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่และการเข้าถึงเป็นสำคัญ
“อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะแถลงรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆนี้อีกครั้ง และในวันที่ 12 พ.ค. จะประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับครูทุกสังกัดทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางรองรับการเปิดเทอมด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าเชื้อโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน แต่เราต้องเตรียมความพร้อมโดยเป้าหมายคือผู้เรียนที่จะต้องได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ แต่เราจะทำอย่างไรให้เรียนอย่างปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ และสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่า ทางโรงเรียนจะสามรรถดูแลลูกหลานได้ โดย สพฐ.ได้เตรียมคุณครูให้สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และมีการสำรวจความพร้อมของนักเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความเคลียด เนื่องจาก 1 ปีที่ผ่านมาสพฐ.ได้รับบทเรียนว่าทางโรงเรียนจัดเรียนออนไลน์เหมือนกันทุกโรงเรียน แต่บางพื้นที่เด็กไม่พร้อมได้มีเครื่องมืออุปกรณ์ ดังนั้นในปีนี้ รมว.ศธ. ให้ สพฐ.จะสำรวจความพร้อมของนักเรียนเป็นที่ตั้งก่อนว่า เด็กแต่ละพื้นที่มีความพร้อมจะเรียนแบบใดบ้างใน 5 ช่องทาง ถ้าเรียนออนไซต์ได้ ก็ให้มาเรียนที่โรงเรียน ถ้าพร้อมเรียนออนไลน์ก็จะจัดให้เรียนออนไลน์ และจากข้อมูลการสำรวจ พบว่า 50% มีความต้องการเรียนที่โรงเรียน และเป็นพื้นที่สีขาว ส่วนพื้นที่ที่เรียนออนไซต์(เรียนที่โรงเรียน)ไม่ได้ ก็ดูว่าใครเรียนออนไลน์ได้ และใครเรียนออนแอร์ หรือถ้าใครเรียนออนไลน์ และออนแอร์ไม่ได้ก็ให้เรียนออนดีมานด์ หรือเรียนออนแฮนด์ ดังนั้นในแต่ละรูปแบบคุณครูก็จะจัดการเรียนให้ตามความเหมาะสม และวิธีการที่คุณครูเข้าถึงกับนักเรียน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้ง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นกระแสความห่วงใยของผู้ปกครองของนักเรียนในช่วง 11 วันก่อนเปิดเทอม สพฐ.ก็จะเน้นให้นักเรียนได้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเป็นทางเลือก โดยเน้นปลอดโรค ปลอดภัย เป็นหลัก นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าในวันที่ 1 มิ.ย.เป็นวันเปิดเทอม นักเรียนทุกคนจะมีที่เรียน ดังนั้น ภายหลังประกาศการรับนักเรียนแล้ว หากเด็กคนใดสอบไม่ได้ และยังไม่มีที่เรียน สพฐ.จึงเตรียมร้องรับโดยมอบให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางเพื่อจัดหาที่เรียนให้กับนักเรียนทุกคนให้มีที่เรียน
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.)กล่าวว่า รมว.ศธ.ก็ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ดำเนินการทั้งกลุ่มออนไลน์และกลุ่มออฟไลน์ ให้กับผู้เรียน และมอบหมายให้ สอศ. ไปดำเนินการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยทาง สอศ. จะดำเนินการในเรื่องการอบรมเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ซึ่งในการประชุมวันที่ 11 พ.ค. นี้ ตนจะนำเสนอในรายละเอียดต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี