“เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะหลังๆ เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาแม้จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายขึ้น แต่อีกด้านกลับพบความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมด้วย ดังจะเห็นจากปัญหาภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ไปจนถึงในปี 2563 ที่กิจกรรมของมนุษย์หยุดนิ่งแทบทั้งหมดจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วพบว่าสภาพอากาศหลายๆ พื้นที่ดีขึ้น สิงสาราสัตว์ที่เคยหลบซ่อนออกมาให้มนุษย์ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านได้ยลโฉม ชวนให้มนุษย์หวนคำนึงถึงความผิดพลาดของตน
ในการบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว-ก่อนและหลังสถานการณ์ COVID-19” งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 EconTU Symposium ครั้งที่ 43 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้บรรยายหัวข้อนี้ กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 กับช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งหากนับย้อนหลังไปในช่วง 5 ปีล่าสุด จะเห็นว่าการที่เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้คนมีรายได้สูงขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือมลพิษที่เพิ่มขึ้น เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 และ 10 ไมครอน (PM2.5 และ PM10) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขยะมูลฝอย ซึ่งในประเด็นขยะนั้นพบว่า “คนทุกชนชั้นไม่ว่ารวยหรือจนล้วนทิ้งขยะมูลฝอยในจำนวนไม่ต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามความเชื่อที่ว่าเมื่อคนเรารวยขึ้นก็น่าจะวิธีจัดการขยะที่ดีขึ้นด้วย” ระยะเวลาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2556-2562 รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะมากเท่ากับการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมและท่องเที่ยว โดยผลักภาระการจัดการขยะไปให้ท้องถิ่น
เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 พบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านั้นคือปี 2562 อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝุ่นไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งต้องหาสาเหตุกันต่อไปเกี่ยวกับการที่ฝุ่นไม่ลดลง ทั้งนี้ “สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังทำให้ขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา” และเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้น แต่เมื่อขยะติดเชื้อตามสถานพยาบาลถูกจัดเป็นขยะชุมชน และกฎหมายก็กำหนดให้ชุมชนดำเนินการ ศักยภาพของจังหวัดจะทำได้อย่างไร?
“ชุมชนมีศักยภาพค่อนข้างแตกต่างกันมากทั้งความสามารถในการจัดการระดับชุมชน ความสามารถในการแสวงหารายได้เพื่อจัดการ ขยะเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการเองได้โดยตัวของจังหวัดเอง รัฐคงจะต้องมาจัดการระดับหนึ่ง ให้ต่างคนต่างทำไม่ได้ ต่างคนต่างทำนั้นในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ไม่มีประสิทธิภาพ บางอย่างต้องร่วมกันทำก็เป็นข้อกังวล อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็น กล่องหน้ากากอนามัยที่เราใส่ ถ้าเรา ใช้เยอะๆ ประเทศเราประเทศเดียวสามารถเอากล่องมาเรียงกันได้เส้นรอบวงของโลกได้ 2 เส้น
ยังมีอีกหลายเรื่อง ถุงก๊อบแก๊บที่รัฐบาลพยายามจะลดการใช้ ปรากฏโควิดมาต้องซื้ออาหารถุงกลับบ้านมีกล่องอาหารที่ใช้แล้วไว้ที่บ้าน การที่เรามีหน้ากากอนามัยซึ่งไม่ใช่ขยะติดเชื้อในมุมมองของสถานพยาบาลแต่เป็นขยะติดเชื้อของชุมชน มีกล่องเศษอาหารที่เดิมเราไม่เคยได้นึก เคยคิดว่ามันไม่ยากนัก คราวนี้กล่องอาหารมันไปอยู่ที่บ้านการจัดการขยะของชุมชนยิ่งกว่าเดิมอีกถ้าเมื่อไหร่ครัวเรือนไม่แยกขยะ ทัศนคติหรือพฤติกรรมของการแยกขยะกับการโยนภาระให้บุคคลอื่น ไม่ใช่หน้าที่ตนฉะนั้นมุมนี้ต้องกลับมาคิดกันใหม่” รศ.ดร.นิรมล อธิบาย
จากปีที่ผ่านมาเข้าสู่ปีปัจจุบัน (2564) ที่กำลังเตรียมการเปิดประเทศไปทีละเมือง รศ.ดร.นิรมล ตั้งคำถามว่า “การเปิดประเทศใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจหรือด้านความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง?”หากเลือกอย่างแรกเชื่อว่าอะไรก็คงไม่ดีขึ้นแต่หากเลือกอย่างหลัง แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นแบบค่อยๆ เพิ่ม แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็ง ไม่พึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป“ถึงเวลาเริ่มต้นใหม่ คิดใหม่และทำใหม่”ไม่ใช่ทุกคนพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจแบบยั่งยืน แต่การกระทำกลับเป็นไปอีกแบบหนึ่ง
อนึ่ง สถานการณ์โควิด-19 หากมองในมุมของโลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ เชื่อว่าคงชอบในสิ่งที่เป็นอยู่ สิงสาราสัตว์คงพอใจที่ไม่มีเสียงรบกวน แต่ในมุมมองของมนุษย์นั้นกังวลกับเศรษฐกิจและปากท้อง กลัวว่าจะอดตาย ซึ่ง รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งหวังให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นสร้างรายได้ให้มนุษย์เองด้วย คำถามที่จะต้องมาคิดกันคือแล้วจะทำแบบนั้นได้อย่างไร?
“คำถามมีอยู่ว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นคน ถ้าให้สัญชาติได้คงเป็นสัญชาติไทย พะยูนก็สัญชาติไทย วาฬนี่อาจจะหลายสัญชาติแต่เขาก็มาเยี่ยมเราบ้าง นกก็สัญชาติไทย เราจะเก็บเขาไว้อย่างไร? ฉะนั้นชีวิตเรา สังคมเศรษฐกิจต้องไม่เปราะบางไปเพราะเรามีฐานทรัพยากรที่มั่นคง เราต้องอยู่ด้วยความมั่นคงของฐานทรัพยากร มิใช่เปราะบางเพราะส่งออก มิใช่เปราะบางเพราะเราพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว เดี๋ยวแรงงานต่างด้าวเขากลับประเทศเขาเราก็แย่เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเรื่องโรคภัยจากต่างประเทศ เราจะต้องป้องกันของเราให้เข้มแข็ง” รศ.ดร.นิรมล กล่าว
รศ.ดร.นิรมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางเลือกข้างต้นที่กล่าวมานั้นไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นกระแสของโลกที่แต่ละประเทศก็ต้องเลือกเช่นกัน การพัฒนาต้องคำนึงถึง
สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ “ทุกครั้งที่เราก้าวไปเพื่อให้ปากท้องอิ่มต้องนึกถึงคนอื่นๆ ด้วย” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต้องชัดเจน
แต่ความท้าทายสำหรับประเทศไทยคือ “มีทั้งผู้ประกอบการรายย่อยเและจังหวัดเล็กๆ มากมาย ที่ไม่มีศักยภาพดูแลมิติอื่นๆ ได้เหมือนจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากร” ดังนั้นรัฐต้องเข้าไปหนุนเสริม!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี