เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม (Human Security and Equity-HuSE) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยาย (ออนไลน์) เรื่อง “ทักษะการทำอาหารเพื่อความอยู่รอด ในชุมชนแออัดของพื้นที่อุตสาหกรรม กลางกรุงพนมเปญ กัมพูชา” โดยผู้บรรยายคือ ซารี เซง (Sary Seng) นักวิจัยหลัง
ปริญญาเอก ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ และมี ฮานวิเดส ดาววิสาน (Hanvedes Daovisan) นักวิจัยหลังปริญญาเอก ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ อีกท่านหนึ่ง ร่วมด้วย ศยามล เจริญรัตน์ (Sayamol Charoenratana) อาจารย์สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่แปลสรุปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
โดยปกติแล้วแรงงานจะมีเวลาทำงานเป็นมาตรฐานคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่หากเป็นแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา แรงงานมักนิยมทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น โดยในกัมพูชานั้นแรงงานจะมีรายได้เฉลี่ย 140-153 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4-5 พันบาทต่อเดือน อนึ่ง ในการสำรวจครั้งนี้ เน้นไปที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ (Garment & Textile) ที่มีแรงงานส่วนใหญ่เป็น “สาวโรงงาน” หรือแรงงานหญิงที่อายุไม่มาก
ผลสำรวจเรื่องพฤติกรรมการซื้ออาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เหตุผล 3 อันดับแรกคือ อันดับ 1 ไม่มีเวลาทำอาหารรับประทานเอง ซึ่งสะท้อนชีวิตของแรงงานที่ต้องเคร่งครัดกับเวลาทำงาน ส่วนอันดับ 2 อาหารสำเร็จรูปราคาถูก
และอันดับ 3 ทำอาหารได้ไม่เก่ง ในขณะที่แรงงานกลุ่มที่ทำอาหารรับประทานเอง จะซื้อหาวัตถุดิบจากตลาดสดที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงาน ซึ่งผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบยอดนิยมในอาหารของชาวกัมพูชา และนำไปทำอาหารในห้องเช่าที่ตนอาศัยอยู่ โดยในห้องเช่านั้นใช้พื้นที่ร่วมกันตั้งแต่ทำอาหารจนถึงเป็นที่นอน
ด้านทักษะการทำอาหารของแรงงานที่สามารถทำอาหารรับประทานเองได้ มาจากการถ่ายทอดจากครอบครัว เช่น พ่อแม่ ทั้งนี้ โรงงานหลายแห่งยังมีระบบโรงอาหาร (Canteen) โดยพนักงานต้องหักเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าประกอบอาหารเลี้ยงพนักงานในโรงงาน ซึ่งหากไม่หักอาจมีรายได้ 7-8 พันบาทต่อเดือน แต่เมื่อหักแล้วจะเหลือประมาณ 5 พันบาทต่อเดือน เป็นต้น แต่ละโรงงานอาจไม่เท่ากัน แต่จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20-30 ของรายได้ต่อเดือนของพนักงาน
“20-30% ผมถือว่าเยอะสำหรับสาวโรงงาน เพราะเขามีการรับผิดชอบไม่ใช่แค่เขาคนเดียว แต่เขาต้องส่งเงินไปจ่ายคืนธนาคาร ก็คือคืนหนี้ด้วย เขาก็ไปส่งกลับบ้านเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ของพ่อแม่ของเขาที่หมู่บ้านด้วย แต่ปัญหาหนึ่งที่ผมอยากแชร์ สาวโรงงานในกัมพูชาก็ไม่ต่างจากสาวโรงงานที่เมืองไทย คือจะกลายเป็นแม่ของคนในอนาคต อีก 2-3 ปีหรือ 5 ปีเขาจะแต่งงานมีครอบครัวแล้วจะมีลูก แล้วปัญหาคือถ้าสาวโรงงานไม่มีสารอาหารที่ครบถ้วน จะมีผลต่อลูกหลานของเขาอีกด้วย
การแก้ปัญหาตรงนี้ การให้เงินเดือนหรือให้อาหารสาวโรงงานมันไม่ใช่ Solution (ทางแก้) ที่มีประสิทธิภาพ 100% แล้วสาวโรงงานเขาบอกว่า การให้อาหารมันไม่ถูกต้องกับที่เขาต้องการ แต่การให้เวลาเขา สมมุติว่าช่วงอาหารกลางวัน ถ้าเขามีเวลาเกิน 1 ชั่วโมง อาจเป็นชั่วโมงครึ่งหรือ 2 ชั่วโมง เขาจะมีเวลาไปทำอาหารเอง แล้วเขาอาจจะรักษาสารอาหารที่เขากินได้ ถ้ามองในเชิงรวม ถ้าเขารักษาสารอาหารในร่างกายเขา รักษาสุขภาพเขาได้ดี เวลาเขาเป็นแม่ของคนต่อไปลูกจะมีคุณภาพ อันนี้เป็นเรื่องสังคมที่ส่วนใหญ่รัฐบาลจะมองข้าม” ซารี กล่าว
ซารี กล่าวย้ำว่า ในขณะที่รัฐบาลมองการแก้ปัญหาโดยสนับสนุนการให้อาหารบ้าง ขึ้นค่าจ้างแรงงานบ้าง ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ความรู้ในการทำอาหารนั้นคือประเด็นหลัก เพราะเป็นวิธีที่แรงงานจะรักษาได้รับสารอาหารที่เหมาะสมอย่างเพียงพอได้ ดังนั้นการให้เวลาพนักงานได้มีโอกาสทำอาหารรับประทานเองก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานหญิง 50 คน พบมี 45 คน ตอบว่าต้องการเวลา และมีเพียง 5-10 คนเท่านั้นที่ยอมรับว่าทำอาหารเองไม่เป็น
เมื่อถามต่อไปถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซารี กล่าวว่า แรงงานในกัมพูชาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ขณะที่อีกส่วนยังอยู่ในเมืองและทำอาหารรับประทานเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงนั้นก็ไม่ต่างจากสถานการณ์ในประเทศไทย คือโรงงานหยุดกิจการ สุ่มเสี่ยงกับภาวะการว่างงานทั้งการพักงานชั่วคราวและการถูกเลิกจ้าง ซึ่งบรรดาสาวโรงงานที่อายุไม่มาก อาจผันตัวเองสู่อาชีพคนกลางคืนตามสถานบันเทิงประเภทต่างๆ เช่น บาร์ ไนท์คลับ คาเฟ่ กลายเป็นความเสี่ยงในชีวิตหลายด้านตามมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน เมื่อกิจการปิดก็ไม่มีรายได้ไปจ่ายหนี้
อนึ่ง ยังมีโรงงานบางส่วนในกัมพูชาที่ปิดตัวลงจากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การแทรกแซงจากสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี