อว.เปิดตัวระบบดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว ฝีมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ง่ายผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “ระบบการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว” เป็นที่สำเร็จ เพื่อใช้บริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยแบบแยกตัว ทั้งแบบการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) / การดูแลตนเองในระบบชุมชน (Community Isolation) และยังเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้มาก ขึ้น รวดเร็วขึ้น สามารถติดตามดูแลอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด สะดวกทั้งต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยจุดเด่นของระบบนี้ คือ 1. ผู้ป่วยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นใหม่ในโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีไม่มีแอพพลิชั่นไลน์ 2. บัญชีผู้ใช้ไลน์หนึ่ง ๆ สามารถใช้กับผู้ป่วยได้หลายคน 3. บันทึกข้อมูลระบบได้รวดเร็ว โดยให้กรอกเฉพาะข้อมูลสัญญาณชีพและอาการ เนื่องจากระบบเชื่อมบัญชีไลน์กับฐานข้อมูลผู้ป่วยแล้ว และ 4. เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) สากล
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะเข้ามาอยู่ในระบบนี้ได้จะต้องได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาล ว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หรือ เป็นผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว และแพทย์ประเมินว่าเป็นกลุ่มไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย (สีเขียว) ยินยอมเข้าสู่ระบบการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว โดยหลังจากได้ลงทะเบียนเชื่อมบัญชีผู้ใช้ไลน์กับฐานข้อมูลคนไข้แล้ว ระบบจะติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านบัญชีไลน์ส่วนบุคคลกับบัญชีไลน์ของโรง พยาบาลที่รับรักษา ซึ่งบัญชีไลน์ส่วนบุคคลของผู้ป่วย จะใช้ในการรับแจ้งเตือนการส่งสัญญาณชีพ ส่งอาการ ปรึกษาแพทย์ แจ้งขอความช่วยเหลือ สั่งอาหาร และอื่น ๆ เกี่ยวกับการสื่อสารกับโรงพยาบาล ส่วนบัญชีไลน์ของทางโรงพยาบาลจะใช้สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าเวร ใช้ในการสื่อสาร ติดตาม หรือให้คำปรึกษากับผู้ป่วย และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ประสานงานกับผู้ป่วยเช่น งานเอกสาร การรับส่งยา หรือการส่งอาหาร เป็นต้น
“ระบบนี้ได้เริ่มใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งช่วยให้ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบแยกตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย ทำให้การสื่อสารและดูแลผู้ป่วยผ่านการแพทย์ทางไกล มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สร้างสามารถความมั่นใจและอุ่นใจให้กับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ได้” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ด้าน รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพัฒนาระบบนี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดี สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงภาคสนาม จึงประสงค์ที่จะเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่กำลังมองหาระบบไอทีในการช่วยเหลือประชาชนได้ใช้ระบบนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายๆใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึง ม.ขอนแก่น พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทั้งด้านไอที และการบริหารจัดการผู้ป่วย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ไปด้วยกัน โดยขอเชิญชวนโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการใช้ระบบติดตามนี้ สามารถแจ้ง ความจำนงค์ได้ที่ https://homeisolation.kku.ac.th
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี