นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 (เมษายน – มิถุนายน 64) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัวถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัด หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร ขณะที่สถานการณ์ในปี 2564 มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงสามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้สินค้าเกษตรที่สำคัญ และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมการผลิตของโรงงานแปรรูปบางแห่งต้องหยุดชะงักลง ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรบางชนิดชะลอตัวลงไปด้วย
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 สศก. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปี และคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกในระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต และการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดแต่ละสาขาว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ที่ขยายตัวได้ในไตรมาส 2 เป็นผลจากการขยายตัวของทุกสาขา ยกเว้นสาขาประมงที่หดตัว โดย สาขาพืช ขยายตัว ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เช่นกัน ส่วนสาขาประมง เป็นสาขาที่หดตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จำนวนวันที่ชาวประมงนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำจึงลดลง ส่วนปริมาณกุ้งทะเล ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับลดพื้นที่การเลี้ยงลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป และปรับสู่รูปแบบการเกษตรวิถีใหม่เพื่อความมั่นคงในภาคการเกษตร อาทิ 1) นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” 2) การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบโลจิสติกส์พัฒนาฐานข้อมูล Big Data ในการใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่าง ๆ 3) เกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูง พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) โดยเชื่อมโยงการทำงานกับ ศพก. เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่และเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) 4) การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงตามศักยภาพของที่ดิน 5) สินค้าเกษตรคุณภาพและมูลค่าสูง ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากความหลากหลายทางชีวภาพ6) การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 7) การสร้างความเข้มแข็งในสถาบันเกษตรกร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี