“กสทช.-บช.สอท.-ค่ายมือถือ” ผนึกกำลังรุกฆาต กางโมเดล-ยกระดับกฎหมายฟันเว็บพนัน-กู้เงินออนไลน์-แชร์ลูกโซ่-นักต้มตุ๋นยุค 4.0 ดึงบิ๊กค่ายมือถือจัดการปัญหา SMS-โทรศัพท์หลอกลวง เริ่มขึ้นแบล็คลิสต์แล้ว
30 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ร่วมกับ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ประกอบกอบการโทรคมนาคม AIS TRUE DTAC NT และ 3BB ประชุมร่วมกันในการจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์ทุกราย) จะทำการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที และเร่งตรวจสอบ กำกับดูแลกันเองอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ส่งที่ส่งข้อความหลอกลวง หลังจากที่ได้การแชร์ข้อมูล SMS หลอกลวงระหว่างกันแล้วพบว่ามาจากผู้ส่งรายเดียวกัน
สำหรับกรณีการโทรหลอกลวงประชาชนโดยตรง สำนักงานฯ กับโอเปอเรเตอร์ทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบจากการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้ข้อมูลการหลอกลวง ส่งคลิป หรือแจ้งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูล สำนักงานฯ จะนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพต่อไป
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.บช.สอท.) เปิดเผยว่า การร่วมมือในครั้งนี้เป็นการเริ่มจากข้อมูล SMS เบื้องต้นการหลอกหลวงในรูปแบบต่างๆ เว็บพนันออนไลน์ การกู้ยืมเงินออนไลน์ หรือการทำแชร์ลูกโซ่ บช.สอท.ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาพอสมควร แต่เนื่องด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มีปัญหาข้อกฎหมาย ทำให้การทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรมต้องใช้เวลา ซึ่งแนวทางการรับแจ้งปัญหาที่ประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากโซเชียลมีเดีย บช.สอท.ได้เริ่มนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้
“เรานำข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นแนวทางตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในส่วนที่ เรารับนโยบายมา เราพยายามเน้นเรื่องการป้องกันโดยเรื่องของการหลอกลวง การขายของสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะจากโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันอยากประชาสัมพันธ์เรื่องของการลงทุนในโลกออนไลน์ คริบโตเคอเรนซี่ ขอให้ลงทุนกับเว็บเทรดคริปโตที่ได้รับใบอนุญาตประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการกู้เงินถ้าอยากกู้เงินขอให้กู้เงินกับสถาบันการเงิน ธนาคารเป็นหลัก” พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าว
พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ไอจี เฟซบุ๊ก ซึ่งยังไม่มีการยืนยันการระบุตัวตน อยากเชิญช่วยให้แม่ค้าออนไลน์ลงทะเบียนกับตำรวจไซเบอร์ผ่านช่องทาง Trust.HighTechcrime.org ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องแสดงหลักฐานอะไร ยืนยันตัวตนกับตำรวจไซเบอร์ไว้แล้ว มีรายชื่อโชว์ที่หน้าเว็บนำไปอ้างอิงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อได้อย่างแน่นอน
“แนวทางที่ตั้งใจจะขับเคลื่อน คือการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการนำบัตรประชาชนมาสมัครลงทะเบียนภาคสมัครใจ เพื่อยืนยันตัวตนของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และอนาคตอันใกล้ หลังจากมีการร่วมมือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช. โอเปอเรเตอร์ ธนาคาร บก.สอท. อาทิตย์หน้าจะมีการหารือกันในด้านเทคนิค การจัดเก็บข้อมูลระบบการรับแจ้งปัญหาหลอกหลวงในรูปแบบต่างๆ เว็บพนันออนไลน์ การกู้ยืมเงินออนไลน์ หรือการทำแชร์ลูกโซ่ จะเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น” พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามหลังจากการทำงานควบคู่กันทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และงานสืบสวนสอบสวน อีกส่วนหนึ่งที่ บก.สอท.จะดำเนินการต่อไปคือทำกรุ๊ปไลน์ กับ อาจารย์ ครู ทั่วประเทศแล้วนำข้อมูลการกระทำความผิดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ครูนำไปเป็นข้อมูลในการสอนนักเรียน เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ การออกข่าว โทรทัศน์ วิทยุ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ จึงเป็นเป็นปัญหาทำให้เกิดการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายไตรรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกับบช.สอท.จะทำให้การดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะทาง บช.สอท. มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน กสทช. มองว่าแนวทางในการจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงที่กำลังดำเนินการสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่ทั้งนี้ สำนักงานฯ ยังต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาโดยตรงในการให้ข้อมูลปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงกับ กสทช. และโอเปอเรเตอร์เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง
“ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจาก SMS โดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงค์ที่ส่งมากับ SMS หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทรมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของ SMS หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้หากประชาชนประสบปัญหา หรือต้องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ SMS และโทรศัพท์หลอกลวง สามารถแจ้งมายัง Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยัง Call Center ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละค่ายมีไว้เพื่อรับข้อมูลเรื่อง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงโดยเฉพาะ” นายไตรรัตน์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี