ในการแถลงข่าวของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ว่า ตามที่วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งล่าสุดองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต ได้เผยแพร่ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตลอดปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้
ซึ่งพบว่า เด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 32 มีภาวะเครียดสูงร้อยละ 28 และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายร้อยละ 22 โดยการระบาดของโควิด-19 ทุกคนต้องปรับตัว เว้นระยะห่างทางสังคม และปรับการเรียนรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว พัฒนาการการเรียนรู้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาสุขภาพจิตในบางราย
ขณะที่การประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ประจำปี 2563 โดย กสม. ในมิติผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พบว่า สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในมิติของการศึกษาและสภาพจิตใจ โดยเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทางออนไลน์เนื่องด้วยครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่อาจจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เนตได้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
“เด็กไทยส่วนมากยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก สอดคล้องกับข้อมูลจากยูนิเซฟที่ระบุว่า ปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง และกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม” นายวสันต์ กล่าว
นายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กสม.จึงขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งรัฐภาคีจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยจะต้องทำให้เด็กได้รับมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้
และประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนสิทธิในการรับบริการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังต้องประกันสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 71 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพด้วย
กสม. จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องวิธีการเรียนการสอนออนไลน์และการเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์ที่อาจเป็นสาเหตุของความเครียด โดยควรเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกที่เข้าถึงได้ง่ายและมีผู้สื่อสารกับเด็กอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี