ผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ร่วมกับ นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง จากสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดฝึกอบรม “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน” แก่เกษตรกรผู้สนใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบ้านโนนแดงน้อย ต.บ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น โดยมี นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นวิทยากรการฝึกอบรม วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงน้ำน้อย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และออกแบบการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำและลักษณะครัวเรือนเกษตรกรแต่ละคนเพื่อให้มีแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้จากการจำหน่ายในชุมชนตลอดทั้งปี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกมองว่ามีความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีระบบชลประทานขนาดใหญ่จำกัด ในปี 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 56 ล้าน เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงมีการปรับตัวเพื่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กประจำครัวเรือน ประกอบกับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการมีเงินทุนของเกษตรกร และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาที่ถูกลง ทำให้เกษตรกรบางส่วนสามารถบริหารจัดการทำให้มีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปี บ้านโนนแดงน้อย เป็นหมู่บ้านที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเกษตรกรบางรายสามารถบริหารจัดการจนทำให้มีน้ำได้ตลอดปี ผู้สนใจจะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและสร้างรายได้ โครงการจึงจัดการอบรมในพื้นที่ โดยมี นายกัมพล ไทยโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นวิทยากรเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าใจรูปแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละสภาพ และปริมาณน้ำที่เป็นข้อจำกัดของเกษตรกร เพื่อให้เข้าใจในรายละเอียด และเห็นรูปธรรมในการดำเนินกิจกรรมเพิ่มขึ้น โครงการฯ จึงจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ต่อเนื่อง
ในการฝึกอบรม วิทยากรได้ให้ความรู้เรื่อง การเลี้ยงปลาหลายชนิดที่มีนิสัยการกินแตกต่างกันร่วมกันในบ่อดิน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณและคุณภาพของปลาต่อบ่อ โดยแนะนำให้เลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลายี่สกเทศ และปลาไนร่วมกัน ทั้งนี้ เพราะปลาตะเพียนกินพืชผักเป็นหลัก และกินอาหารอยู่ระดับผิวน้ำ เมื่อขับมูลออกมาจะสร้างแพลงก์ตอน(ทำให้น้ำมีสีเขียว) ซึ่งจะเป็นอาหารของปลานิล ในขณะที่ปลายี่สกเทศที่กินอาหารกลางบ่อถึงก้นบ่อ ชอบกินพืชน้ำ หญ้าที่เน่าเปื่อย และกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาที่กินระดับผิวน้ำ จะช่วยทำความสะอาดบ่อ ในขณะที่ปลาไนที่ชอบขุดคุ้นหากินที่ก้นบ่อ จะกินอาหารทุกอย่างที่มี จะเป็นปลาที่ช่วยทำความสะอาดบ่อ และเพิ่มประสิทธิภาพอาหารที่เลี้ยงได้ โดยมีสัดส่วนในการปล่อยปลาแต่ละชนิดต่อบ่อที่เหมาะสม เช่นบ่อขนาด 1 ไร่ ควรปล่อยปลาตะเพียน ปลานิล จำนวน 600-800 ตัว ปลายี่สกเทศ จำนวน 200-400 ตัว และปลาไน จำนวน 100-200 ตัว โดยระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน สามารถให้ผลผลิตปลา 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ วิทยากรยังได้แนะนำวิธีสร้างอาหารธรรมชาติไว้ที่มุมบ่อ โดยการกองเศษหญ้าหรือฟางข้าวร่วมกับปุ๋ยคอกเป็นชั้นๆ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงปลาได้ และแนะนำเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากบ่อได้มากขึ้น โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่าง การเลี้ยงปลาหมอไทยในกระชัง โดยการคำนวณต้นทุนในการเลี้ยง และวิธีการจัดการและประเมินขนาดปลาที่ควรได้หากจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถจับขายได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน นอกจากนี้วิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ร่วมกันออกแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับเกษตรกรแต่ละรายที่มีสภาพแหล่งน้ำ สัตว์น้ำที่เลี้ยงอยู่เดิม และระยะเวลาที่มีน้ำในบ่อ เช่น เกษตรกรรายหนึ่งมีน้ำตลอดปีเลี้ยงปลาตะเพียนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม
นายกัมพลกล่าวว่า “ความสำเร็จจะไม่เห็นผลหากไม่ลงมือทำ แม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านการทำประมงมาโดยตรงก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากได้เรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ถูกต้อง จึงเชื่อว่าเกษตรกรผู้เข้าร่วมและผู้ปฏิบัติงานภายใต้งานโครงการฯ จะสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น ให้มีแหล่งอาหารและรายได้ตลอดทั้งปี ตลอดจนสร้างอาชีพเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี”
ด้านนายบุญจันทร์ สีกะพา เกษตรกรผู้ที่เข้าร่วมอบรบกล่าวว่า การเข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้และเทคนิคที่ดีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงน้ำน้อยเพื่อสร้างแหล่งอาหาร เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานภายใต้โครงการ U2T ให้มีความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและเป็นรายได้เสริม ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมอบรมให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงน้ำน้อยต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี