11 พฤศจิกายน 2564 น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงกรณีการจับกุมแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากที่ลักลอบข้ามชายแดนเข้ามายังฝั่งไทย ว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับกุมแรงงานชาวเมียนมา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. 2564
โดยเฉพาะวันที่ 19-26 ต.ค. 2564 มีการจับกุมได้มากกว่า 400 คน และพบว่าแต่ละคนต้องเสียค่านายหน้าคนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งมีทั้งแรงงานหน้าใหม่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานเดิมที่เคยทำงานในประเทศไทยอยู่แล้วแต่ได้กลับไปประเทศบ้านเกิดช่วงที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์เบาลง แรงงานกลุ่มนี้ก็ต้องการกลับเข้ามาทำงานในไทย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาคประชาสังคมโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับปฏิบัติการต่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมเสนอให้ กสม.ตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับกุม สอบถามปัญหา และหารือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่ง กสม. โดยคณะทำงานด้านการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีเร่งด่วน ได้สอบถามและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ได้รับแจ้งว่าชาวเมียนมาที่ถูกจับกุมทั้งหมดนั้นอยู่ในวัยแรงงาน ไม่มีเด็กหรือผู้ลี้ภัย อันเป็นการดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ติดตามสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีคดีลักลอบเข้าเมืองจำนวนมากซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย แต่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องในฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น
น.ส.ศยามล กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณารวมไปถึงการที่ประเทศไทยถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 (2021 TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวน่าห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ และสุขภาพ กล่าวคือ สถานกาณณ์โควิด-19 ระลอกสองเมื่อปลายปี 2563 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแรงงานเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่และต้องอยู่กันอย่างแออัด
นอกจากนี้ กรณีการจับกุมแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ อาจมีประเด็นปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์นอกเหนือไปจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่ง กสม.เคยมีข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แต่ไม่ปรากฏผลการดำเนินงานที่ชัดเจน
“ทราบมาว่าในวันนี้ (11 พ.ย. 2564) กระทรวงแรงงานได้มีการนัดประชุมผู้ประกอบการที่มีความต้องการแรงงานเมียนมาจำนวนมาก อันจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ทางกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการ เราก็จะติดตามผลการประชุมวันนี้ และ กสม. เห็นว่าถ้าการดำเนินการเป็นไปอย่างไร กสม. ก็จะติดตามแล้วก็จะเข้าพบหารือกับกระทรวงแรงงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาทางป้องกันและจัดในแง่คุ้มครองสิทธิแรงงาน” น.ส.ศยามล กล่าว
น.ส.ศยามล ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาก โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมา กัมพูชาและลาว จึงควรมีนโยบายรับแรงงานเข้าระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ การทำให้แรงงานเข้ามาในระบบ ก็จะมีแรงงานมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งสามารถป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมกันด้วย
อนึ่ง ในตอนท้ายของการแถลงข่าว มีสื่อมวลชนได้ซักถามว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาหนึ่งที่พบเสมอมาคือขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้นยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่อาจรับได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวได้ลงไปถึงธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) เช่น ร้านอาหารตามสั่งหรือร้านก๋วยเตี๋ยวริมทาง ตลอดจนลูกจ้างทำงานในบ้าน ที่มีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับกิจการรายใหญ่ เมื่อความต้องการมีมากแต่ช่องทางเข้าระบบไม่อำนวยจึงเกิดการลักลอบนำพาเข้ามา กสม. มีข้อเสนอแนะอย่างไร
น.ส.ศยามล ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องนั้น ควรเปิดเผยผลการตรวจสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุม ขณะที่การดำเนินการด้านนโยบาย กสม. นั้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงาน
ทั้งนี้ หลายกิจการมีความต้องการแรงงานต่างด้าวและค่อนข้างขาดแคลน จึงจำเป็นต้องเร่งหารือทั้งกับกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง โดยกระทรวงแรงงานอาจจะมีสถิติของจำนวนแรงงานเหล่านี้ที่เคยทำงานในประเทศไทยแล้วออกไปแล้วกลับเข้ามา และแรงงานที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งต้องดูกันว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร หรือให้ภาคธุรกิจเอกชนที่มีความต้องการแรงงานมาพูดคุยร่วมกัน แล้วรัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนหรืออุดหนุน
“อันนี้ต้องคุยกันระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐด้วยกัน ว่าจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไรในการอุดหนุน-สนับสนุนหนุนแรงงานซึ่งมีภาวะที่รายได้เขาน้อยและไม่มีความมั่นคง จะช่วยให้แรงงานเข้ามาทำงานได้แล้วก็ไม่ถูกเรียกค่านายหน้า ก็เป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้วย อันนี้เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ นอกเหนือจากที่จะมีมาตรการให้ภาคประกอบการต้องมีมาตรการดูแลเรื่องโควิดด้วย ควรจะมีภาระรับผิดชอบในการดูแลเรื่องนี้ร่วมกัน” น.ส.ศยามล ระบุ
น.ส.ศยามล กล่าวย้ำว่า การพูดคุยกันระหว่างผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานและฝ่ายความมั่นคง จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ และสามารถลดขั้นตอนการจ่ายค่านายหน้า เป็นมาตรการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดและเป็นความร่วมมือกันทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับที่ กสม. เคยมีความเห็นในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการเร่งตรวจคัดกรองโควิด-19 กับแรงงาน เพื่อไม่ให้แรงงานรับภาระมากจนเกินไป
.
(010)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี