สพฐ.เปิดตัวเลข‘เด็กตกหล่น-ออกกลางคัน’ ตั้งทีม‘อสศ.’ตามหาดึงกลับเข้าเรียน
16 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความเป็นห่วงเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ตกหล่น และออกกลางคันจากระบบการศึกษา ซึ่งทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำรวจข้อมูลนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. ในกลุ่มรอยต่อ ตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 ที่จะขึ้น ป.1 , ป.6 จะขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือไปสายอาชีวะฯ ของภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และจากข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นักเรียนกลุ่มรอยต่อได้รับทุนจาก กสศ. เพื่อจะไปศึกษาต่อแล้วกว่า 200,000 คน ในจำนวนนี้ไม่พบข้อมูลการไปเรียนต่อที่ใด จำนวน 41,610 คน จำแนกเป็นชั้นอนุบาล 3 จำนวน 391 คน , ป.6 จำนวน 8,092 คน และ ม.3 จำนวน 33,127 คน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้นำข้อมูลและรายชื่อนักเรียนมาจำแนกว่าเด็กเหล่านี้อยู่โรงเรียนไหน และอยู่จังหวัดใด และได้นำรายชื่อทั้งหมดให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อให้ไปติดตามตัวเด็กเหล่านี้ให้กลับเข้ามาเรียนให้ได้ โดยจากข้อมูลภาคเรียนที่ 1/2564 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 สพฐ.สามารถติดตามเด็กให้กลับเข้ามาเรียนในระบบได้มากถึง 26,657 คน จึงเหลือเด็กที่ยังหาตัวไม่เจอและไม่ไปเข้าเรียนที่ใดเลยอีก 14,953 คน จำแนกเป็นชั้นอนุบาล 3 จำนวน 266 คน , ป.6 จำนวน 5,901 คน และ ม.3 จำนวน 8,786 คน
ทั้งนี้ เด็กในจำนวน 14,953 คนนี้พบเป็นเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ จำนวน 1,052 คน แบ่งเป็น เด็กรหัส G จำนวน 964 คน และเด็กที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วย 00 จำนวน 88 คน จึงเหลือเด็กที่มีข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ จำนวน 13,901 คน ซึ่งในส่วนนี้คงหาไม่ยาก โดย สพฐ.ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องไปติดตามให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาต่อไป
“ถือเป็นนโยบายปัญหาสำคัญ ที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเรื่องเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเสมอว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องติดตามเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ ซึ่งการติดตามนักเรียนจำนวน 14,953 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ ระบุว่า สพฐ.จะดำเนินการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.การติดตามเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 6,167 คน จำแนกเป็นรายภาค ดังนี้
ภาคเหนือ 1,066 คน
ภาคกลาง 697 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,726 คน
ภาคตะวันออก 153 คน
ภาคใต้ 2,525 คน
ทั้งนี้ สพฐ.จะตั้งคณะทำงาน ปักหมุด เช็คอิน ค้นหาเด็กทุกคนให้เจอแล้วตามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับให้ได้ ถึงแม้เด็กจะไม่อยู่ตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ สพฐ.ก็จะติดตามหาเด็กให้เจอ และถ้าพบเด็กอยู่พื้นที่ใด ต้องให้เด็กเรียนที่นั่นตามความสะดวกของเด็ก ทั้งนี้ สพฐ.จะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่าหากผู้ปกครองไม่ให้เด็กเรียนตามการศึกษาภาคบังคับ จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย
2.เด็กที่อายุเกิน 15 ปี ซึ่งอายุไม่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ มีจำนวน 8,786 คน ที่จบ ม.3 แล้ว สพฐ.จะให้คณะทำงานลงพื้นที่เพื่อตามหาตัวเด็กเหล่านี้ และสร้างความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ ให้เด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามความสมัครใจ โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีโครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” 16 จุดใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ทั้งนี้ จะช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และตกหล่นจากระบบการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น โดยจะให้มาเรียนในลักษณะโรงเรียนประจำ และได้เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมอาหาร ไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่ถ้าเด็กไม่ต้องการเรียนสายอาชีพ ก็สามารถมาเรียนสายสามัญได้ โดยอาจจะให้ไปเรียนในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ หรือเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น
นอกจากจะติดตามเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาแล้ว สพฐ.ยังทำการติดตามเด็กพิการที่อยู่ในสังกัด สพฐ. ซึ่งพบว่ามีอยู่กว่า 7,100 คน ให้กลับมาเรียนในระบบควบคู่กันไปด้วย ซึ่ง สพฐ.จะเร่งดำเนินการทั้ง 2 เรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้ เพื่อให้เด็กได้เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 1/2565 ได้เลย
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้เข้าเรียน หรือเข้าเรียนแล้วแต่ออกกลางคัน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เด็กอาจจะต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย เด็กอาจจะต้องย้ายติดตามผู้ปกครองไปพื้นที่อื่น หรือต้องออกมาหารายได้จุนเจือครอบครัวเอง ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำรงชีพ หรือเด็กอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล อยู่ในพื้นที่ป่าเขา เกาะแก่ง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการเรียน
“เพื่อให้การค้นหาเด็กมีประสิทธิภาพขึ้น สพฐ.วางแผน และวางระบบจะตั้งอาสาสมัครทางการศึกษา (อสศ.) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ประจำแต่ละพื้นที่ในการช่วยค้นหา ติดตามเด็กที่ตกหล่นให้เข้าสู่ระบบการศึกษา” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี