เกษตรกรเฮ!
‘บิ๊กตู่’จัดอีก1.55แสนล้าน
เติมประกันรายได้/สินเชื่อ
นำเข้าครม.อนุมัติ30พ.ย.นี้
นายกฯไม่ทอดทิ้งเกษตรกร จัดสรรเงินช่วยเหลืออีก 1.55 แสนล้านบาทใช้ในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและโครงการสินเชื่อต่างๆเข้าครม. 30 พฤศจิกายนนี้ ปลื้ม“คนละครึ่ง”เฟส 3-“ยิ่งใช้ยิ่งได้”ฉลุยต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปท.“ผู้ซื้อ-ผู้ขาย”ได้ประโยชน์ร่วมกันสร้างมูลค่ารวมมาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพของรัฐสะสมสูงเกือบ2แสนล้านบาทแล้ว
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า “พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทุกคน ที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการแพร่ระบาดโควิดและน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหางบประมาณมาให้พี่น้องเกษตรกร ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวเพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตข้าว โครงการประกันรายได้ยางพารา โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งวันนี้ผมขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้เพิ่มเติมอีก 155,000 ล้านบาท
โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารหน้า (30 พ.ย.64) จากนั้น ก็จะมีการเบิกจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง สำหรับรายละเอียดขอให้ติดตามข่าวสารจากทางภาครัฐอีกครั้งครับ”
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ปลื้มกระแสการใช้จ่ายของประชาชนผ่านมาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพของรัฐ ที่รัฐบาลมีการเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน ช่วยกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19ได้แก่โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยความคืบหน้า (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564) มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 41.2ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 191,685.3 ล้านบาท
แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.13 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 169,488.9 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 86,115 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 83,373.9 ล้านบาท 2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 90,799 คน ยอดใช้จ่ายส่วนประชาชนสะสม 3,445.8 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 184.5 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.55 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 17,123.1 ล้านบาท และ 4) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.43 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,443 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม ล่าสุด มีจำนวนกว่า 75,000 ราย ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ ผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอป พลิเคชัน “เป๋าตัง” จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ
นายธนกร ยังกล่าวด้วยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาคึกคึกหลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลาย นายกฯ พอใจกระแสตอบรับและการใช้จ่ายของประชาชนที่มีความเชื่อมั่นฝนรัฐบาล ออกมาใช้ชีวิตแบบ New Normal ซึ่งรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทย” ผ่านมาตรการ โครงการต่างๆ มาตรการเยียวยา มาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ละโครงการได้รับเสียงชื่นชมจากต่างชาติ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ที่ทำให้ว่าทั้งผู้ซื้อ/ผู้รับบริการ และผู้ประกอบการ ตลอดจนร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ต่างได้รับประโยชน์ สร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ คู่ขนานไปกับนโยบายการเปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติได้ เชื่อมั่นว่าในอีก 1 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะยิ่งคึกคัก เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนไทยทุกคนมีความสุขในเทศกาลปีใหม่อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันยภาพรวมด้านการลงทุนในไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยนายกฯ ได้รับทราบความคืบหน้าจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 213 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 11,554 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน โดยชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย (ร้อยละ 38) สิงคโปร์ 33 ราย (ร้อยละ 15) และ ฮ่องกง 20 ราย (ร้อยละ 9) และลงทุน ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รายงาน ว่าการกำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค. - ก.ย.)มีสัญญาณบ่งชี้อัตราเติบโตที่ดี โดยมีกิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 74 และมีมูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 160 และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี (93,883 ล้านบาท) ทั้งนี้ ตั้งแต่ ปี 2558–กันยายน 2564 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท 2. กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท 3. กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท 4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท 5. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท
“คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564นี้ จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ของไทย จะนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และคาดว่าในอีก 5 ข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่าร้อยละ25ของ GDP ซึ่งจะทำให้การเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน”นายธนกร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี