ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรอง ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช.สั่งการและกำชับให้ กอนช.เร่งระบายน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล ให้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นปี 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน พร้อมทั้งติดตามการจัดสรรน้ำ การเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้ง การดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง 2564/65 ทั้ง 9 มาตรการ
สำหรับปริมาณน้ำในทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำค้างทุ่งประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยวางแผนระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือค้างทุ่งที่ระดับความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการปลูกข้าวนาปรัง และลดการใช้ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้ทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่ง ได้ระบายน้ำตามแผนแล้ว 8 แห่ง คือ ทุ่งบางระกำ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโพธิ์พระยา เหลือปริมาณน้ำที่จะต้องระบายออกรวมกันประมาณ 73.56 ล้าน ลบ.ม. ได้ระดมสรรพกำลังเร่งระบายน้ำออกโดยไม่ให้กระทบกับพื้นที่ข้างเคียง ส่วนแม่น้ำท่าจีนจะสูบน้ำออกช่วงน้ำทะเลลดต่ำเท่านั้น คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถเก็บกักน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2564 อย่างแน่นอน
ขณะที่การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม.ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว
เลขาธิการ สทนช.เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนของลุ่มน้ำชี-มูล ยังมีพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยลุ่มน้ำชีขณะนี้ได้ชะลอการระบายน้ำออกจากเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนวังยาง ด้วยการลดบานระบายน้ำเพื่อเริ่มกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้ง เช่นเดียวกับลุ่มน้ำมูลได้ชะลอการระบายน้ำของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ ควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ คาดว่าจะระบายออกได้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน
สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2564/65 นั้น มีการจัดสรรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน หลังจากสิ้นฤดูฝนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 72,596 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นปริมาณน้ำในเขตชลประทาน 37,857 ล้าน ลบ.ม. และนอกเขตชลประทาน 34,739 ล้าน ลบ.ม. สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้งได้ 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น เขตชลประทาน 6.95 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 4.7 ล้านไร่ โดยเป็นการทำนาปรังในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และเป็นพืชไร่พืชผักในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี