“พล.อ.ประยุทธ์” เปิดงานวันครูครั้งที่ 66 “พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล” “ตรีนุช” เปรียบครูเป็น “พ่อแม่คนที่สอง”
16 ม.ค.65 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุรุสภาได้มีพิธีจัดงานวันครู ครั้งที่ 66 ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล” ในรูปแบบผสมผสาน คือ ออนไซต์ แบบนิวนอร์มอล และออนไลน์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันครู รวมถึงพิธีคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี และมอบสารเนื่องในโอกาสวันครู และพิธีคารวะครูอาวุโส ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในรูปแบบออนไลน์ และวีดีโอคอนเฟอร์เร้น
โดยเวลา 08.00 น. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 10 รูป พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ครูผู้วายชนม์ พิธีบูชาบูรพาจารย์และระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. คณะกรรมการคุรุสภา คณะผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วมในพิธี
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบสารให้กับคุณครู ตอนหนึ่งว่า “เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 66 วันที่ 16 มกราคม 2565 ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ผมขอน้อมมุทิตาจิตและแสดงกตเวทิตาคุณแด่ครูผู้การุณย์แก่ศิษย์เสมอมา พร้อมทั้งขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านทั่วประเทศ ครูเป็นผู้จุดประกายความคิด อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ เพื่อให้ศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ คุณธรรม และมีจิตสาธารณะ รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาขับเคลื่อนโดยภูมิปัญญาและนวัตกรรมตามเผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาของชาติแบบองค์รวม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นการสร้างครูยุคใหม่และผู้เรียนที่ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินชีวิตในโลกยุควิถีใหม่
“ปี พ.ศ. 2565 นี้ ผมขอมอบคำขวัญ "วันครู" ครั้งที่ 66 ว่า "พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต" ด้วยตระหนักถึงการพัฒนาครู ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะที่เหมาะสมสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สามารถถ่ายทอดให้ศิษย์มีความรู้และทักษะที่จำเป็น เกิดการเรียนรู้ คิดริเริ่ม สร้างสรรค์ พัฒนาสิ่งใหม่ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่มุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการทำหน้าที่อำนวยความรู้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์เติบโตเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ คุณธรรม และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 66 พ.ศ.2565 ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจสรรพสิ่งศักดิ์ที้งหลายที่ทุกท่านนับถือ ตลอดจนเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี โปรดอภิบาลประทานพรให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านประสบแด่ความสุข สวัสดี มีความเจริญ มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง มีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และสัมฤทธิผลในสิ่งที่พึงปรารถนาทุกประการโดยทั่วกัน
สำหรับวันครูของนายกรัฐมนตรี ได้แก่
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ครูผู้สอนวิชากลศาสตร์ (Machanic) วิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 พ.ศ. 2517 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.)
โดย พล.อบุญสร้าง กล่าวว่า ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ลืมวันเวลาร่วมกันในรั้ว จปร. ในปี 2517 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักเรียนชั้นปีที่ 4 และเป็นการสอนปีที่ 2 ในชีวิตการสอนของตน ตนสอนวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาของวิศวกรรมเครื่องกล พล.อ.ประยุทธ์เรียนกับตน 1 ปี นักเรียนนายร้อยประยุทธ์ เป็นลูกศิษย์ที่ตั้งอกตั้งใจเรียน มีความสนใจในวิชาการ มีสมาธิที่ดี เรียบร้อย และเป็นผู้ที่มีความอดทน
"ความทรงจำเกี่ยวกับนักเรียนนายร้อยแทบจะเหมือนกันหมด เพราะทุกคนทำอะไรเมหือนกันหมด ถ้าจะจำได้ก็เป็นนักเรียนที่มีความเรียบร้อยเป็นพิเศษหรือบางคนอาจจะเกเรนิดหน่อย ก็จะจำได้ ผมจำพล.อ.ประยุทธ์ได้ และเชื่อว่าอดีตผู้บังคับบัญชา และครูบาอาจารย์ของท่าน ก็จะรู้สึกเหมือนๆ กัน คือภูมิใจในลูกศิษย์คนนี้มาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นลูกศิษย์ที่ดี ซึ่งเวลาผ่านมาเกือบ 50 ปีมาแล้ว ท่านจบมาก็เป็นทหาร ในที่สุดได้มาเป็นผู้นำกองทัพ และได้มาเป็นผู้นำประเทศ การเป็นครู เป็นอาชีพที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดในโลก ไม่ว่าอยู่ตรงไหนหรืออยู่สังคมใด เพราะคือการสร้างคน ให้มีคุณสมบัติที่ดี คือ มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยันขันแข็ง เสียสละเพื่อส่วนร่วม มือความกล้าหาญ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ปลูกฝังให้อยู่ในจิตใต้สำนึกของลูกศิษย์ให้ได้ ถ้าทำได้ ถ้าทุกคนในชาติมี บ้านเมืองจะไม่ตกต่ำ หากมีภัยพิบัติอะไรมาจะช่วยแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พล.อบุญสร้าง กล่าว
ขณะที่ น.ส.ตรีนุช ได้ส่งสารถึงคุณครูเนื่องในโอกาสวันครู ตอนหนึ่งว่า “ตนขอส่งความรักและความปรารถาดีมายังเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาของชาติด้วยดีเสมอมา ประเทศใดประ เทศหนึ่งจะมั่นคงและตั้งอยู่ได้ ก็ด้วย การมีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างบริบูรณ์ ในบรรดาทรัพยากรที่แต่ละประเทศมีอยู่นั้น "คน" คือทรัพยากรที่มีชีวิต แลพเป็นทรัพยากรทรงคุณค่าที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เป็นผลพวงจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ และเป็นความยิ่งใหญ่ที่อาจเทียบได้กับ "ผู้ประกอบวิชาชีพครู" ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ชีวิตของเด็กและเยาวชน ให้เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ต่อไป
“ศธ. ในฐานะองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพได้ยึดมั่นในการ "พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้ สู่อนาคต " ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีคำขวัญเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 66 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินนโยบายในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ และเน้นให้ความสำคัญด้านภาษาและดิจิทัล เพื่อครูสามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัยได้อย่างมืออาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียนอย่างจริงจัง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการร่วมกับคุรุสภาและหน่วยงานอื่นๆ ในการคัดเลือกครูผู้มีผลงานดีเด่นให้เข้ารับรางวัลต่าง ๆ ระดับประเทศทุกปี เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญครูผู้เป็นแบบอย่างในระบบการศึกษายุคใหม่” น.ส.ตรีนุช กล่าว
นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช ยังได้กล่าวมุทิตาจิต แด่คุณครู นงลักษณ์ ภมรจันทรมัส ครูชั้นเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตอนหนึ่ง ว่า คุณครูผู้มอบชีวิต และสร้างตัวตนให้แก่ลูกศิษย์ทุกคน 40 กว่าปีมาแล้ว ที่โรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีสองมือที่คอยประคองให้ดิฉัน หัดเขียนหัดอ่าน ก ไก่ เป็นครั้งแรก และเป็นสองมือที่เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา และความอบอุ่นในทุกครั้งที่ได้เจอ
“ครูนงลักษณ์” ครูสอนวิชาคัดลายมือของดิฉัน เป็นครูที่เป็นมากกว่า ผู้ให้กำเนิดชื่อ แต่เป็นครูที่มอบชีวิต และสร้างตัวตนให้ “ตรีนุช” เป็น
“ตรีนุช” มาจนทุกวันนี้
ดิฉันเป็น “บุตรสาวคนที่สาม” จากบรรดาพี่น้องทั้งหมดสี่คน ในวัยเด็ก ดิฉันได้มีโอกาสฟังคำสอน ที่จับใจดิฉันอยู่เสมอว่า หนึ่งชีวิตของคนเรานั้น มีการเกิดได้อยู่ 2 หน โดยการเกิดหนที่หนึ่งนั้น คือ “การเกิดของเลือดเนื้อและชีวิต” ที่เราได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ ส่วนการเกิดในครั้งที่สองนั้น คือ “การเกิดทางปัญญา” ซึ่งเราจะได้รับจากคุณครู ผู้ทำหน้าที่เสมือนพ่อแม่บังเกิดเกล้า คอยเลี้ยงดูขัดเกลาลูกศิษย์ทุกคน ดุจดั่งลูกแท้ ๆ ของตัวเอง
การที่คนคนหนึ่งจะมีชีวิตความเป็นอยู่ หรือตัวตนอย่างไรนั้น นอกเหนือจากการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนของพ่อแม่แล้ว “ครู” คือหนึ่งในผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต และการสร้างตัวตนของคนคนหนึ่งมากที่สุด สำหรับเด็ก ๆ บางคนแล้ว ครูยังอาจต้องเป็น “พ่อแม่คนที่สอง” เพื่อช่วยเติมเต็ม และเป็นความสมบูรณ์ให้แก่เด็ก ๆ ในยามที่พวกเขารู้สึกเปราะบาง เรียกว่า “ครู” เป็นมากกว่าอาชีพ แต่เป็น “จิตวิญญาณ” ที่ไม่อาจมีอาชีพใดมาทดแทนได้
ในยามที่สังคมกำลังตั้งความคาดหวังกับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ อีกหนึ่งกระจกสะท้อนที่ดีที่สุด คือการย้อนมองกลับมาที่ครู ว่าในวันนี้ คุณครูของเรา มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร และยังมีความสุข ความภาคภูมิใจ กับการทำหน้าที่ “แม่พิมพ์ของชาติ” อยู่หรือไม่?
เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่เราทุกคนต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก จากสถานการณ์ของโรคระบาดร้าย และมีหลายสิ่ง ที่ได้เข้ามาซ้ำเติมความบอบช้ำ จากการทำหน้าที่ของครูไม่มากก็น้อย ทว่า ท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ เราได้เห็นความพยายาม และการต่อสู้ของครู เพื่อเอาชนะอุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ที่คอยขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ของลูกศิษย์เราได้ เราได้เห็นรูปแบบ และเทคนิควิธีการสอนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมากมาย ที่ทำให้ลูกศิษย์ของเรามีความสุข สนุกไปกับการเรียนรู้ และเรายังได้เห็นนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่เปลี่ยนครูจากการเป็น “ผู้สอน (teacher)” มาเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้ (facilitator)” ที่คอยจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
ขอขอบคุณคุณครูทุกท่าน ที่ได้อุทิศแรงกาย แรงใจ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ ให้แก่ลูกหลานและเยาวชนของเราตลอดมา และขอให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาที่ถึงพร้อม เพื่อร่วมกันมอบชีวิต และสร้างตัวตน ให้แก่ลูกศิษย์ของเราต่อไป เพื่อวันข้างหน้าที่ยิ่งใหญ่ เพื่อประเทศไทยของเรา
ด้าน คุณครู นงลักษณ์ กล่าวว่า ตนสอน น.ส.ตรีนุช ในระดับชั้นเด็กเล็ก สอนวิชาด้านการเตรียมพร้อมด้านการเขียน การอ่าน เพื่อเตรียมเรียนต่อชั้น ป.1 น.ส.ตรีนุช ตอนเด็ก ๆจะเป็นคนเรียบร้อย น่ารัก ยิ้มแย้ม ปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆได้ดี แต่จะเป็นคนพูดน้อย ตั้งใจเรียนสนใจอ่านเขียนตามที่ครูบอก ไม่เข้าใจก็จะถาม เป็นคนฉลาดมีไหวพริบดี ตนได้ติดตามข่าวสารของลูกศิษย์คนนี้มาตลอดเวลา รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ลูกศิษย์คนนี้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งนับเป็นกระทรวงที่สำคัญ กระทรวงหนึ่ง ตนมั่นใจว่า น.ส.ตรีนุช สามารถที่จะใช้ความรู้ ความสามารถมาพัฒนาการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้
"ครูรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ครู ได้สอนและวางรากฐานให้กับเด็ก ๆ ด้วยความรัก ความผูกพันและอดทนมานานถึง 36 ปี ยิ่งเห็นเด็กเจริญเติบโตและก้าวหน้าในอาชีพการงาน ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นครู ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ประทับใจใน น.ส.ตรีนุช คือ เป็นคนที่เสมอต้นเสมอปลายไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน น.ส.ตรีนุช จะไม่ลืมเข้ามาทักทายตลอด และในฐานะที่เป็นครูรุ่นพี่ อยากจะฝากน้องๆนอกจากจัดการสอนวิชาการแล้ว ต้องเน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้มากขึ้น เด็กจะได้มีคุณธรรม จริยธรรมในหัวใจ และจะเป็นคนดีของสังคม อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข" ครูนงลักษณ์ กล่าว
ต่อมา น.ส.ตรีนุช ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2564 – 2565 จำนวน 14 คน และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2563 – 2564 “ระดับดีเด่น” จำนวน 18 คน
ด้าน ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี