29 มกราคม 2565 อย่างที่ทราบกันดีทั้งนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้กล่าวย้ำว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะถึงจุดสิ้นสุดได้ภายในเร็ว ๆ นี้ เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีโอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงหลายวันมานี้เริ่มมีรายงานข่าวเรื่อง การปรากฏตัวของ สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน (Omicron sub-lineage) ในต่างประเทศแถบโซนยุโรป
ซึ่งทางสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้กำหนดให้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็น “สายพันธุ์ภายใต้การตรวจสอบ” แล้วหลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวน 53 ราย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ตามรายงานของหน่ายงานดังกล่าว
ส่วนประเทศเดนมาร์กพบเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดโอมิครอนในประเทศ แต่ผลทางการศึกษาของเดนมาร์กระบุว่า ไม่พบความแตกต่างในจำนวนการรักษาในโรงพยาบาลระหว่างโอมิครอนเชื้อดั้งเดิม (เรียกว่า BA.1) กับ BA.2
ต่อมาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีรายงานข่าวเกี่ยวกับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ซึ่งพบเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณสามสัปดาห์ต่อมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวล้วนเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 ตรวจพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว และได้รายงานไว้ในระบบฐานข้อมูลจีเสส (GISAID) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 มีทั้งหมด 6 ราย ซึ่งลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บนโปรตีนสไปค์ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาแถลงข่าว โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มอีก 8 ราย รวมทั้งหมดเป็น 14 ราย ซึ่ง 8 รายหลังนี้ยังไม่วิเคราะห์ข้อมูลของลักษณะสำคัญของสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างละเอียด และยังไม่ส่งรายงานเข้าระบบฐานข้อมูลจีเสส แต่คาดว่าข้อมูลจะขึ้นปรากฎให้เห็นอีก 1-2 วัน
สำหรับประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรงหรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อธิบายดังนี้
ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว? : ข้อมูล ณ ปัจจุบันของ BA.2 มีน้อยเกินไปที่จะสรุป แต่ถ้าหากสัดส่วนการระบาดเปลี่ยน จากเดิม 2% ขึ้นเป็น 5-10% ต้องจับตาและเฝ้าระวัง เพราะอาจเป็นไปได้ว่า แพร่เชื้อเร็วกว่า
อาการรุนแรงกว่าเพราะสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้? : จากข้อมูลรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน พบว่ามี 1 รายที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 ภายในประเทศ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ มีอายุมากและมีโรคประจำตัว แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า BA.2 รุนแรงกว่า BA.1 เพราะหลบภูมิคุ้มกันได้ เนื่องจากว่า ข้อมูลยังมีน้อย อย่างไรก็ตามทางกรมฯ ได้ส่งข้อมูลกว่า 7 พันเรดคอร์ด ให้กรมการแพทย์ไปติดตามเพื่อวิเคาระห์รายะละเอียดอีกที
ในเบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 7 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 7,000 ราย หรือคิดเป็น 0.1% ซึ่งจะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ ข้อมูลในจีเสสรายงานว่า พบ BA.2 มีจำนวนประมาณ 2.1 หมื่นราย ส่วน BA.1 มีจำนวนประมาณ 4.2 แสน หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 40 เศษ ๆ ซึ่งถือว่ายังพบ BA.2 ไม่มาก แต่เนื่องจากโอมิครอนมีการระบาดหลายสิบล้านทั่วโลก จะใช้สัดส่วนนี้มาสรุป 100% ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในไทยตรวจเจอสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพียง 14 รายจากในจำนวนหมื่นกว่าราย ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเห็นว่า ยังไม่ต้องวิตกกังวล และคาดว่าคงไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัดและยังตรวจเจอได้ด้วยชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK)
ดั้งนั้น สำหรับการวิวัฒนาการของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ชัดเจนว่ามันจะ "อ่อนกว่า" หรือ จะ "ร้ายกว่า" โอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 หรือมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่าง อัลฟา, เบตา และเดลตา
แต่ก็ยังมีนักวิจัยบางคนคิดว่าไม่ควรให้ BA.2 เป็นเชื้อแขนงย่อย ทั้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่า BA.2 จะมีความแตกต่างจากสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ทางองค์การอนามัยโลกเองก็ควรที่จะระบุ ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (หากมีข้อมูลยืนยันในภายหลังว่ามีความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น) และควรตั้งชื่อใหม่เป็นชื่อเฉพาะให้กับ BA.2 เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างจริงจังต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก hfocus.org
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี