เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “แรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติก่อนและหลังวิกฤตโควิด-19 : มองไทยและญี่ปุ่น” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการบรรยายหัวข้อ “แรงงานไทยในญี่ปุ่นมองย้อนอดีต ดูปัจจุบัน วิเคราะห์อนาคต” โดย ศ.ดร.ปิยะพงศาพิทักษ์สันติ และ รศ.ดร.ปิยดา ชลวร ซึ่งชาวไทยทั้ง 2 ท่าน เป็นนักวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น
ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว (Kyoto Sangyo University) เมืองเกียวโต กล่าวว่า คนไทยเริ่มออกไปหางานทำในต่างแดนตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ปี 2513-2522) ในช่วงแรกๆ ไปกันเฉพาะผู้ชาย โดยปลายทางสำคัญคือประเทศแถบตะวันออกกลาง (เช่น ซาอุดีอาระเบีย) ต่อมาในทศวรรษ 1980 (ปี 2523-2532)ความสนใจของแรงงานไทยหันมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกมากขึ้น เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งยุคนี้คนไทยที่ออกไปทำงานต่างแดนมีทั้งชายและหญิง
สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีโครงการ “TITP (Technical Intern Training Program)” หรือผู้ฝึกงานทางเทคนิคในช่วงแรกๆ ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ขณะที่ปัจจุบันเป็นชาวเวียดนาม ส่วนชาวไทยนั้นก็มีเพิ่มขึ้น เช่นในปี 2563 มีชาวไทยในโครงการนี้ 10,735 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ซึ่งมี 3,464 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีชาวไทยทำงานอยู่ในญี่ปุ่นทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นคน อย่างไรก็ตามจำนวนชาวไทยในโครงการ TITP ถือว่าเป็นอันดับ 6 ของชาวเอเชียในโครงการเท่านั้น โดย 5 อันดับแรกของปี 2563 ได้แก่ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเมียนมา
ศ.ดร.ปิยะ กล่าวต่อไปถึงงานวิจัยที่สอบถามความคิดเห็นจากแรงงานไทยในโครงการ TITP จำนวน 88 คน ระหว่างปี 2562-2564 ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ย 20-30 ปี จบการศึกษาระดับ ปวช. เข้าร่วมโครงการผ่านตัวแทนภาคเอกชน ทำงานด้านประกอบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พบว่า 1.รายได้คือแรงจูงใจสำคัญ หลายคนมาร่วมโครงการเพราะต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังต้องการหาประสบการณ์ชีวิตจากการได้ไปทำงานในต่างประเทศ
โดยมีรายได้เฉลี่ย 120,000-140,000 เยน (ประมาณ3-4 หมื่นบาท) ต่อเดือน ถือว่าพอกินพอใช้ อย่างไรก็ตามแรงงานไทยกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่คิดไว้ รวมถึงไม่ค่อยพอใจองค์กรที่ประสานงาน เพราะไม่ช่วยต่อรองเงินเดือนให้ และไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงพอที่เกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้มีงานน้อยลงซึ่งทำให้รายได้ลดลง
2.ค่อนข้างพอใจกับชีวิตในญี่ปุ่น นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าทำงานอยู่เมืองไทยแล้วยังได้เพื่อนใหม่ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวไทย ไม่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและคำพูดแต่มีปัญหาสำคัญคือการสื่อสารที่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่น อนึ่ง กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ไม่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นเพราะอายุยังน้อย 3.มองว่าคิดถูกที่เข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในญี่ปุ่นไปใช้ประโยชน์ได้เมื่อกลับไปเมืองไทย แต่ก็ไม่คิดต่อสัญญาทำงานที่ญี่ปุ่นต่อ และไม่แนะนำคนอื่นให้เข้าร่วมโครงการ
ขณะที่ รศ.ดร.ปิยดา ชลวร อาจารย์คณะนานาชาติศึกษา (International Studies) มหาวิทยาลัยเทนรี (Tenri University) เมืองนารา กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ที่แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ว่า ในครั้งนั้น อาเบะ ได้แถลงต่อรัฐสภา ว่าญี่ปุ่นไม่ได้รับแรงงานอพยพ แต่จะเน้นรับผู้ฝึกงานและเป็นแรงงานระยะสั้น อีกทั้งไม่อนุญาตให้แรงงานพาครอบครัวมาด้วย ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการพอสมควร
อาทิ เป็นนโยบายที่ไม่ได้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่นในระยะยาว อีกทั้งจะมีปัญหาขูดรีดแรงงาน เช่น ได้รับค่าจ้างค่อนข้างต่ำ นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลา (OT) รวมถึงปัญหาการถูกเพื่อนร่วมงานใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ สามารถแบ่งคนไทยที่เข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้ 2 ยุค คือ 1.ยุคปี 2531-2553 โดยเฉพาะในปี 2534มีชาวไทยไปทำงานในญี่ปุ่นมากที่สุด ประมาณ 1 แสนคนโดยครึ่งหนึ่งใช้วีซ่าท่องเที่ยวแต่เข้าไปทำงานกระทั่งวีซ่าหมดอายุ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ โรงงานผลิตอาหาร สิ่งทอ ก่อสร้าง และธุรกิจบันเทิง ใช้เวลาอยู่ในญี่ปุ่นเฉลี่ยประมาณ 10 ปี
นอกจากนั้นก็มีผู้เข้าไปทำงานผ่านโครงการฝึกงาน (เช่น TITP) ระยะเวลาโครงการมีตั้งแต่ 3 เดือน-3 ปีซึ่งแม้ว่าเป้าหมายของโครงการคือการฝึกฝนทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์ แต่สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการแล้วเหตุผลสำคัญคือต้องการทำงานเก็บเงิน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการแบบนี้ทำให้เกิดการจ้างงานนอกระบบ กับ 2.ยุคตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2553 ญี่ปุ่นมีการออกวีซ่าสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฝึกงานโดยเฉพาะ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นรับชาวต่างชาติเข้าร่วมโครงการประมาณ 77,000 คน ขณะที่ในปี 2562 ได้เพิ่มเป็น 2 แสนคน
สิ่งที่แตกต่างระหว่างคนไทยไปทำงานในญี่ปุ่นที่เป็นคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ คือคนรุ่นใหม่อายุน้อยกว่า ระดับการศึกษาสูงกว่า และทำงานในญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ เคยมีงานศึกษาวิเคราะห์ไว้ว่า เหตุที่คนไทยต้องไปทำงานในญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยยังใช้ระบบเศรษฐกิจที่คนต้องเป็นทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไปพร้อมกัน การไปญี่ปุ่นก็เพราะเห็นรายได้ที่แตกต่างระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และต้องการนำรายได้มาใช้จ่ายด้านวัตถุ เช่น ซื้อบ้านหรือรถยนต์ แต่รายได้และสวัสดิการจะมาก-น้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท ประเภทธุรกิจ และปริมาณ OT
การเดินทางไปนั้นมีคนรู้จักชักชวน เช่น ญาติหรือเพื่อน บวกกับโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทนายหน้าที่เข้าไปถึงสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะระดับ ปวส. อนึ่ง จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง 37 คน แบ่งเป็นชาย 23 คน หญิง 14 คน ที่เป็นคนไทยทำงานในญี่ปุ่นในโครงการ TITP ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยสัญญาจ้าง 3 ปีนั้น ปีแรกเป็นการทำงานเพื่อใช้หนี้ เพราะต้องมีการลงทุนก่อนเดินทาง เช่น จ่ายค่านายหน้า จ่ายค่าอบรมภาษาญี่ปุ่น ส่วนปีที่ 2-3 จะเป็นการทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้าน
เมื่อถามต่อไปว่าหากครบกำหนดตามสัญญาจ้างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป กลุ่มตัวอย่างเพศหญิง ระบุว่า อาจจะไปทำงานประเภทอื่นต่อ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทุกคนไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใครอีก แต่จะหาทางสร้างกิจการของตนเองขึ้น และมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 2 คนที่ตั้งเป้าหมายจะกลับไปเรียนต่อที่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม แรงงานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าไม่กระตือรือร้นในการเรียนภาษาญี่ปุ่นมากนักเพราะลำพังงานที่ทำก็ค่อนข้างเหนื่อยแล้ว
รศ.ดร.ปิยดา กล่าวต่อไปว่า แม้คนหนุ่ม-สาวจากเมืองไทยต้องการไปทำงานที่ญี่ปุ่นเพราะเห็นค่าจ้างสูงกว่า แต่เมื่อไปถึงจะพบว่ารายได้เฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะหากเทียบในภาคการผลิตด้วยกัน จึงต้องอาศัย OT เป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่ไม่ใช่ว่า OT จะมีให้ทำจำนวนมากตลอดเวลา บางช่วง OT ก็มีน้อย ขณะเดียวกันนายจ้างก็ไม่อยากเสี่ยงให้ลูกจ้างทำ OT เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพราะอาจถูกลงโทษ
อนึ่ง สำหรับผู้ที่ทำงานครบ 3 ปี แล้วต้องการต่อสัญญาซึ่งจะเปลี่ยนจากผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิค เป็นแรงงานเทคนิคเฉพาะทางระดับ 1 มีแรงงานส่วนหนึ่งอยากเปลี่ยนประเภทงาน (เช่น แรงงานภาคเกษตร เพราะมีรายได้ค่อนข้างน้อย) แต่เงื่อนไขไม่อนุญาตให้ทำได้!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี