คณะกรรมการจัดงานนมัสการพระมงคลมิ่งเมือง กำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ด้วยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ยังไม่คลี่คลาย จึงต้องงดจัดงาน นมัสการ พระมงคลมิ่งเมืองอำนาจเจริญ แต่ยังคงไว้ซึ่งพิธีทางสงฆ์ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เช่น การทำบุญตักบาตร ภิกษุสงฆ์ –สามเณร พิธีถวายเครื่องสักการะองค์พระมงคลมิ่งเมือง มอบทุนการศึกษาพระสงฆ์/นักเรียน และเวลา 17.00 น. พิธีเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา
ทั้งนี้ ผู้มาร่วมงาน จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด – 19 อย่างเคร่งครัด
สำหรับ พระมงคลมิ่งเมือง หรือ พระใหญ่ ประดิษฐาน อยู่ภายในพุทธอุทยาน ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ บนเขาดานพระบาท บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ท่ามกลางป่าไม้นานาพันธุ์ขึ้นเขียวชอุ่มปกคลุมไปทั่วบริเวณ ทำให้ร่มรื่น เงียบสงบยิ่งนัก แถมมีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชาวอำนาจเจริญ และยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง
พระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลด้านศิลปะอินเดียเหนือแคว้นปาละ ซึ่งได้แผ่อิทธิพลมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 -16 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ส่วนสูงวัดจากพื้นดินระดับต่ำสุดถึงยอดเปลว 20 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยตลอด ผิวนอกฉาบปูนด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2508 ซึ่ง พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนทั้งชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพ ศรัทธามาก และถือว่า เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
สำหรับด้านหลังองค์พระมงคลมิ่งเมือง เป็นที่ประดิษฐาน พระละฮาย 2 องค์ สลักด้วยหินทรายสีแดง ยังสลักไม่เสร็จ พุทธลักษณะตรงกับสมัยทวารวดีรุ่นหลังพุทธศตวรรษที่ 10 – 12 ซึ่งขุดได้จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดกหรืออ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เพื่อใช้ในการเกษตรและผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงชาวเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ตรงข้ามพุทธอุทยาน
ว่ากันว่า พระละฮาย หรือ พระขี้ล่าย ตามภาษาอีสาน แปลว่า พระไม่สวยงาม นักนิยมเสี่ยงโชค ชอบมาบนบาน อธิษฐาน ขอโชคลาภ เป็นประจำ หากสมหวัง ก็จะนำหุ่นไก่ มาแก้บน จึงพบเห็นไก่แก้บนเต็มพื้นที่
นอกจากนี้ด้านหลังองค์พระละฮาย ซึ่งพื้นที่มีลักษณะเป็นเขาดานหินธรรมชาติ สูงจากระดับพื้นดินเป็นดอนๆ และเป็นที่ตั้งพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน เนื่องจากพบหลักฐานสำคัญ คือ ยังมีรอยพระพุทธบาทจารึก และห่างไปก็จะเป็นป่ารกชัฏมีถ้ำหลายถ้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ท่ามกลางแมกไม้ป่ารกชัฏ สลับเสียงนกกาจักจั่นขับร้องขับกล่อมเป็นเสียงเพลง ลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา จะเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญแบบไม้ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ค่อนข้างเก่า เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ญาติโยม ถวายภัตตาหาร แด่ พระครูสารธรรมคุณาพร หรือ พระอาจารย์คำ จันทสาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่นี่ สังกัดธรรมยุต สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชน ที่มานมัสการ องค์พระมงคลมิ่งเมือง ก่อนกลับก็จะแวะฟังธรรมเทศนา จากพระอาจารย์คำจันทสาโร เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิต ให้เจริญรุ่งเรือง และก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี