กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวความร่วมมือ “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” พร้อมลงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง หนึ่งในพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่จำนวนมาก
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านคนไร้บ้าน ทำประชาคมเพื่อทางออกร่วมกัน โดยได้กำหนดกรอบการพักอาศัย และรูปแบบการ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย พร้อมกันนี้ ได้สนับสนุนให้บุคลากร นักสังคมสงเคราะห์ในสังกัด ร่วมเป็น Case Manager เพื่อวางแผนให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องในระยะยาว ต่อไป
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ร่วมกับทางนักวิชาการจากแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้านของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คาดการณ์ว่าจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและปากท้องของกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับการสำรวจแบบเร่งด่วน (Rapid Survey) ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่พบคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยปัญหาดังกล่าว ทาง สสส. ได้ร่วมหารือกับทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการตั้งหลักของคนไร้บ้านหรือกลุ่มเปราะบางที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพและจิตจากการใช้ชีวิตบนพื้นฐานสาธารณะเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน มีจุดเน้นสำคัญในการปรับวิธีการจัดการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ผ่านกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในการแชร์ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จัดตั้งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนด้านรายได้จากการทำงาน ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับทาง สสส.
“การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมาอยู่ในช่วงของการประเมินผลและการออกแบบเพื่อตอบโจทย์เชิงระบบและการขยายผลในระยะยาวหัวใจสำคัญของนวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าวนี้ อยู่ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไร้บ้าน ที่สามารถตั้งหลักชีวิตได้ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่เหมาะสม” นางภรณี ระบุ
นายสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเปิดวิธีการใหม่ในการสนับสนุนดูแลคนไร้บ้านด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ที่ตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานรายวัน และจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งงานในเมือง รวมถึงตอบโจทย์ด้านความแออัดของศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้การสนับสนุนด้านอาชีพและการหารายได้บนพื้นฐานศักยภาพของคนไร้บ้าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี