“หมอพรทิพย์” ขอทราบผลชันสูตร “แตงโม”ก่อน แนะหากผ่ารอบ 2 ให้เช็คกระดูก-รอยตัด ชี้คดีนี้ถือว่าแปลกแต่ต้น ไม่เก็บหลักฐานของคนทั้ง 5 คน และเรือทันที ด้าน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เรียกตำรวจ-นิติเวช-พิสูจน์หลักฐาน ให้ข้อมูล 21 มีนาคมนี้ขณะที่กระทรวงยุติธรรม เชิญแพทย์ 3 รพ.ร่วมชันสูตรศพรอบ 2 ส่วนดีเอสไอ ระบุต้องเข้า 5 เงื่อนไข จึงรับเป็นคดีพิเศษ
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ น.ส.ภัทรธิดา หรือนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ดาราสาวชื่อดัง อายุ 37 ปี พลัดตกเรือสปีดโบ๊ท จมแม่น้ำเจ้าพระยา เสียชีวิต ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์โดยพบศพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริเวณใกล้ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 จ.นนทบุรี ซึ่งแตงโม ลงเรือไปกับนายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือปอ นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต นายนิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร หรือจ๊อบ น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือกระติก ผู้จัดการส่วนตัวและนายวิศาพัช มโนมัย หรือแซน สาวประเภทสอง ที่อ้างว่าแตงโม เดินไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ ก่อนจะพลัดตกแม่น้ำ ท่ามกลางข้อกังขามากมาย ว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม ขออายัดศพเพื่อชันสูตรรอบที่ 2 ว่าตามคำแนะนำที่ได้บอกไปแล้ว ดีที่สุดคือขอทราบผลตรวจศพและตรวจทุกอย่างที่เกี่ยวกับศพแตงโม จากสถานบันนิติเวช ก่อน
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวและมารยาทจะไม่ลงไปเป็นผู้ผ่าชันสูตรศพเอง เพราะตามข้อกฎหมายไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่สามารถให้คำปรึกษาได้ ทั้งในนาม กมธ.และการเป็นคนไทยที่เห็นความไม่ยุติธรรม ถ้าตราบใดที่ยังมีลมหายใจจะขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผลชันสูตรจากหน่วยงานภายนอกระบุว่าบาดแผลที่ขาแตงโม เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต บ่งชี้อะไรบ้าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า อย่างแรกอยากให้ทุกคนไปดูที่ต้นตอข่าวก่อนว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว ผู้ผ่าศพหรือผู้ที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพราะในประเทศไทยหากต้องการตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ผ่าศพจะเป็นคนแรกที่เป็นผู้เลือกชิ้นเนื้อแล้วนำส่งไปที่พยาธิแพทย์ ซึ่งเขาจะระบุเพียงว่าเลือดพบการอักเสบ จากนั้นแพทย์จะนำมาบอกว่าแผลเกิดก่อนเสียชีวิต ขณะที่แพทย์ผ่าศพต้องรู้ว่าแผลนี้ไม่โดนเส้นเลือดใหญ่ จึงเป็นคนพูดว่าแผลนี้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต ดังนั้นแพทย์ที่ตรวจชิ้นเนื้อไม่น่าจะให้ผลชันสูตรนี้ แปลว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต จึงเป็นคำถามที่เคยถามว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือเกิดตอนอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยาก
“จริงๆ คดีนี้ไม่ยากอยู่ที่ว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลาหรือไม่ และการที่จะบอกว่าแผลเกิดขึ้นก่อนหรือหลังตกน้ำ ไม่ได้อยู่ที่ศพ แต่อยู่ในที่เกิดเหตุ คือนิติวิทยาศาสตร์ เรือ และบุคคลทั้ง 5 คนบนเรือ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า การตรวจกระดูกบริเวณที่วัตถุไปโดนสามารถนำท่อนกระดูกนั้นไปตรวจด้วยกล้องฯ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลหะ หรือใบพัด รวมทั้งขวดและแก้วไวน์ด้วย อย่างไรก็ดี เวลาผ่านมาหลายวันทำให้สภาพศพเกิดปัญหา แต่ประเด็นหลักที่ญาติต้องการ หรือสิ่งที่เขาต้องตอบ ต้องดูว่าอยากทราบอะไร แต่เชื่อว่าการผ่าชันสูตรตอบได้มากแล้ว แต่ถ้าชันสูตรรอบ 2 แล้วสมมติถามว่าแตงโม มีแอลกอฮอล์หรือไม่ รับรองว่าตรวจไม่ได้ ดังนั้นการตรวจรอบ 2 ช่วยได้ในช่วงบริเวณกระดูกรอยตัด ซึ่งในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ตนจะไปดูเรื่องนี้กับครอบครัวแตงโม
“คดีนี้ถือว่าแปลกแต่ต้น เพราะไม่ใช่วิถีที่จะทำให้เกิดความกระจ่าง คือการไม่เก็บหลักฐานของคนทั้ง 5 คน และเรือทันที เรือก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาซึ่งขัดกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องฟันหักก็คงเป็นเรื่องที่นิติเวชจะต้องตอบ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.และประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ได้เรียกประชุม กมธ.ดังกล่าว โดยมีวาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมและขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคดีแตงโม โดยนายสมชาย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่า กมธ.สามารถสอบสวนกรณีดังกล่าวได้ ไม่ซ้ำซ้อนกับ กมธ.อื่น ส่วนกลุ่มที่จะต้องเรียกมาให้ข้อมูลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2.กลุ่มนิติเวช และ 3.เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน โดยวันที่ 21 มีนาคมนี้ จะเชิญทั้ง 3 กลุ่ม เข้าให้ข้อมูล กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.จะไม่แทรกแซงการทำงานของตำรวจ
ทั้งนี้ ได้วางกรอบการทำงานไว้ 1 เดือน รูปแบบการทำงานจะเป็นการตั้งกมธ.เต็มคณะเข้าไปตรวจสอบ หากมีประเด็นใดที่เห็นว่าต้องลงพื้นที่จะมอบให้ตน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายคำนูณ สิทธิสมาน ไปตรวจสอบ
“สำหรับการพิสูจน์ศพรอบ 2 ก็จะให้พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในการผ่าศพและให้ข้อสังเกตต่างๆ การทำงานของ กมธ.จะดูเฉพาะพยานหลักฐานที่มีความชัดเจน อะไรที่เป็นเรื่องมโนตามโซเชียลฯ คงไม่เก็บมาเป็นประเด็น เรื่องนี้ต้องยุติด้วยความเป็นจริง พิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์” นายสมชาย กล่าว
วันเดียวกัน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือที่นายกฤษณะ ศรีบุญพิมพ์สวย ทนายความของนางภนิดามารดาแตงโม ซึ่งขอให้มีการพิสูจน์ศพแตงโม เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จะตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช จาก 3 รพ.คือ รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ รวมถึงแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้จะเชิญพญ.คุณหญิงพรทิพย์ ร่วมสังเกตการณ์ ในการชันสูตรศพรอบ 2 เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ ทั้งนี้ หากญาติอยากร่วมสังเกตุการณ์ในห้องผ่าชันสูตรก็ไม่ขัดข้อง
ส่วนแนวทางการชันสูตรจะเป็นไปตามคำร้องขอจากญาติ แจ้งทนายให้ระบุข้อสงสัยทั้งหมดตามร่างกายของแตงโม เป็นข้อๆ และส่งให้แพทย์ผู้เกี่ยวข้องชันสูตร โดยจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ วิเคราะห์โดยเฉพาะ ซึ่งได้เชิญแพทย์จากนิติเวชฯ ที่ชันสูตรครั้งแรกร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพื่อสนับสนุนข้อมูล ให้ได้ข้อเท็จจริงและคลายข้อสงสัยทั้งหมด คาดการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ มีคำตอบที่ชัดเจนคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ภายใน 2 สัปดาห์ จากกรอบระยะเวลา 30 วัน
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ยืนยันว่า การรับเรื่องให้ชันสูตรซ้ำเป็นไปตามการร้องขอจากญาติผู้เสียชีวิต เพื่อคล้ายข้อสงสัยไม่ได้มีความขัดแย้งกับตำรวจ เพราะตำรวจทำหน้าที่สรุปสำนวนคดี กระทรวงฯ ไม่ก้าวล่วง แต่หากญาติร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาดูคดีแทน ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ที่มีความซับซ้อนในคดี ต้องมีการร้องขอเพื่อพิจารณา จึงลงพื้นที่เก็บหลักฐานควบคู่กับตำรวจ
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีญาติของแตงโม ต้องการให้ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ ว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาอื่นที่ไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ โดยกลไกการพิจารณาต้องดู พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ที่กำหนดไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ซับซ้อนต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษหรือไม่ 2.เป็นคดีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ-การคลัง ความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.เป็นอาชญากรรมข้ามชาติหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่ 4.ผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน และ 5. มีข้าราชการฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ต้องหา
อีกด้านหนึ่ง นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีแตงโม โดยนายรณณรงค์ กล่าวว่า กรณีผลตรวจสารเสพติดคนในเรือ 5 คน ออกมาแค่3คน ขาดไป2 คน ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีใครบ้าง เพราะยังไม่เห็นเอกสารผลการตรวจสอบหากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ขอให้ผู้ตรวจการฯ ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหรือถ้ากฎหมายมีช่องว่างก็ขอให้มีข้อเสนอแนะให้สภาฯ แก้ไขกฎหมาย
บ่ายวันเดียวกัน ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ นายกฤษณะ ทนายความของนางภนิดา มารดาแตงโม พร้อมด้วยนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ที่ปรึกษาคดีแตงโม เข้ารับฟังผลชันสูตรร่างแตงโม โดยนายกฤษณะ กล่าวว่า ทางตำรวจได้นัดหมายนางภนิดา และตน มารับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานสอบสวน และผลการชันสูตรศพแตงโม สำหรับประเด็นที่ยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่ คงต้องให้นางภนิดา ชี้แจงเอง ตนจะเสริมหรือซักถามในประเด็นที่น่าสงสัย
ส่วนนายเดชา กล่าวว่า จะสอบถามเจ้าหน้าที่ทุกประเด็นที่มารดาของแตงโมสงสัย เช่น บาดแผล การเน่าเปื่อยของศีรษะ ร่องรอยฟันหัก และบาดแผลที่ต้นขาขวา แต่การชี้แจงครั้งนี้จะเป็นข้อยุติที่จะไม่ต้องมีการผ่าชันสูตรรอบ 2 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนางภนิดา หากคำวินิจฉัยหรือการแถลงของเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์เจตนาผู้กระทำความผิดได้ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการชันสูตรรอบ 2 ทั้งนี้ ต้องมีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวประกอบการแถลง เนื่องจาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ แจ้งว่าต้องขอดูภาพด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับการชันสูตรรอบ 2 ตนได้ประสาน รมว.ยุติธรรม แล้ว คาดว่าจะเป็นที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี