เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ได้ประเมินสถานะของ กสม.
โดยพิจารณาความสอดคล้องของการจัดตั้งและการดำเนินงานของ กสม. กับหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ “หลักการปารีส” (Paris Principles) จากเอกสารชี้แจง และการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการแก้ไข ปรับปรุงการดำเนินงานของ กสม. ในช่วงที่ผ่านมานั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ SCA ได้แจ้งผลการพิจารณาว่า
มีข้อเสนอแนะที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A เพราะเห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของ กสม. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาข้อห่วงกังวลของ SCA ในเรื่องความเป็นอิสระอันเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ซึ่งต้องมีความหลากหลาย การเพิ่มหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมถึงการพัฒนากระบวนการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม.
ซึ่งคณะอนุกรรมการ SCA เน้นย้ำความสำคัญในบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้รับสถานะ A ว่าจะต้องมีความเป็นอิสระ มีการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างแข็งขัน ทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อหนุนเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการ SCA นี้ เมื่อไม่มีการคัดค้านโดย กสม. ภายใน 28 วัน จะมีการเผยแพร่รายงานการพิจารณาฉบับทางการทางเว็บไซต์ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร GANHRI (GANHRI Bureau) พิจารณารับรองต่อไป ทำให้ กสม. ไทยจะได้รับสถานะ A อย่างเป็นทางการ อันจะช่วยให้ กสม. สามารถแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่
เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) การเข้าร่วมในคณะทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งของกรอบความร่วมมือเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งในระดับโลก (GANHRI) และระดับภูมิภาค (APF) ที่จะร่วมผลักดันประเด็นสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับสากล ตลอดจนจะช่วยให้ท่าทีและความเห็นของ กสม. เช่น แถลงการณ์และข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
“เสียงของเราก็จะเป็นที่รับรู้ ยอมรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างครบถ้วน และจากการที่เรามีสถานะเป็นที่ยอมรับ ก็แน่นอนมันจะนำมาสู่สิ่งต่างๆ นอกเหนือจากเฉพาะเรื่องของสิทธิมนุษยชน พอเขาเห็นว่าเรามีการทำงานที่เป็นมาตรฐานในส่วนของสิทธิมนุษยชน ทำให้คนไว้วางใจ การค้า การลงทุน คนที่มาติดต่อสื่อสาร มาร่วมมือกับเราก็ทำได้อย่างเต็มที่” น.ส.พรประไพ กล่าว
ปธ.กสม.กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ในเบื้องต้น SCA ได้แจ้งมาก่อน หลังจากนี้จะมีอีก 2-3 ขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการรับรองโดย GANHRI แล้วจะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีไม่เฉพาะกับ กสม. แต่ยังเป็นข่าวดีของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่คณะกรรมการชุดที่ 3 จนถึงปัจจุบันที่เป็น คกก.ชุดที่ 4 และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นว่า กสม. ทำงานได้อย่างเป็นอิสระ โดยการประเมินนี้จะมีขึ้นทุกๆ 5 ปี และหวังว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า กสม. จะยังคงอยู่ในสถานะ A เช่นเดิม
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี