ห่วงกลุ่มผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไม่ถึงครึ่ง
เกิน70% แค่ 7 จว.
เด็กวัย 5-11 ปีรับเข็ม 1 เข็ม 2 ต่ำกว่าเกณฑ์
เร่งฉีดเข็มกระตุ้นก่อนถึงช่วงสงกรานต์
ดับเซ่นโควิด 91 ศพ/ป่วยรวม ATK3 หมื่น
อาการหนักเฉียด 2 พัน-ครองเตียงกว่า 28%
ไทยติดเชื้อรายวันพุ่งสูงอันดับที่ 9 ของโลก
ไทยติดเชื้อทรงตัว 21,088 คน ATK 10,884 คน รวมสองระบบป่วยใหม่ 31,972 คน ตายเพิ่ม 91 ศพอาการหนักขยับตาม 1,862 คน ครองเตียง 28.3% ติดอันดับ 9 โลก“สธ.”ห่วงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่มีวัคซีน ทำให้ติดเชื้อจากคนในครอบครัวสูง ส่วนอายุ5-11 ปี จี้พ่อแม่เร่งพาไปฉีดช่วงปิดเทอม เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ เร่งญาติพาไปรับเข็มกระตุ้น หวั่นหลังสงกรานต์กระเพื่อมอีก เผยยอดวัคซีนสูงวัยฉีดทะลุเป้า70% แล้ว7จังหวัด
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 รายวันของไทย มีรายละเอียดดังนี้
ติดเชื้อเพิ่ม21,088รวมATK10,884
สถานการณ์ติดเชื้อในประเทศวันนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 21,088 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 93 ราย โดยแบ่งเป็นเข้าประเทศผ่านระบบเทสต์ แอนด์ โก 68 ราย แซนด์บ็อก 9 ราย ระบบกักตัว 16 ราย และจากเรือนจำ 24 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมแล้ว 1,534,140 ราย สำหรับผลตรวจ ATK พบเป็นบวก รายงานวันที่ 5 เมษายนจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบติดเชื้อเข้าข่าย หรือ ATK เป็นบวกอีก 10,884 ราย ส่วนยอดผลบวกสะสมอยู่ที่ 1,168,466 ราย ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งยืนยันผลด้วย RT-PCR
ตายเพิ่ม91-อาการหนัก1,862ราย
ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 91 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 3,905 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อที่หายป่วยวันนี้ 27,519 ราย รวมหายป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมแล้ว 1,313,333 ราย และกำลังเข้ารับการรักษาอยู่ 250,145 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก 1,862 ราย และที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 781 ราย ทั้งนี้ ตามสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามกราฟจะพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมมี 1,496 ราย แต่วันที่ 5 เมษายนเพิ่มขึ้นเป็น 1,862 ราย
ใส่ท่อหายใจ781แนวโน้มพุ่งต่อเนื่อง
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมมี 562 ราย แต่วันที่ 5 เมษายน เพิ่มขึ้นเป็น 781 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมมี 80 ราย แต่วันที่ 5 เมษายนมี 91 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย (14 วัน) ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมมี 23,935 ราย แต่วันที่ 5 เมษายนยังเป็นเส้นตรงแต่ขยับขึ้นเล็กน้อย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้น 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบครองเตียงเยอะที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 217 ราย มีอัตราครองเตียงร้อยละ 36.80, สมุทรปราการ 75 ราย มีอัตราครองเตียงร้อยละ 43.49 นครราชสีมา 71 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 22.50 กาญจนบุรี 67 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 46.80 สงขลา 64 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 29.70 นนทบุรี 52 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 44 เชียงราย 50 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 20.70 สุราษฎร์ธานี 49 ราย มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 44.30 นครศรีธรรมราช 48 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 17.40 และบุรีรัมย์ 46 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 13.60 โดยอัตราครองเตียงของผู้ป่วยระดับ 2-3 (เหลือง-แดง) อยู่ที่ร้อยละ 28.3
กทม.ยังติดเชื้อนำโด่ง3.2พันคน
ศบค.รายงานด้วยว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 91 รายวันนี้ พบเป็นประชากรกลุ่ม 608 หรือประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงร้อยละ 93 โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 67 ราย คิดเป็นร้อยละ 74 และประชากรผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรังอีก 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 และผู้ที่ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ แบ่งตามจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 3,286 ราย ชลบุรี 1,076 ราย นนทบุรี 925 ราย สมุทรปราการ 884 ราย นครศรีธรรมราช 679 ราย สมุทรสาคร 629 ราย นครปฐม 583 ราย บุรีรัมย์ 518 ราย ระยอง 517 ราย และสงขลา 491 ราย
ไทยติดอันดับ9ของโลก
สำหรับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกนั้น พบมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมแล้ว 492,781,338 ราย รักษาหายแล้วรวม 427,792,583 ราย และเสียชีวิตรวม 6,179,143 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส เวียดนาม และอิตาลี ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
เปิด7จว.ฉีดวัคซีนสูงวัยเกิน70%
ที่กระทรวสาธารณสุข (สธ.) พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ฉีดวัคซีนสะสม 130.19 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 55.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 80.1 ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 อีก 50.3 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 72.5 และเข็มที่ 3 อีก 24.09ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 34.6 โดย สธ.รณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับเข็มกระตุ้นมากขึ้นก่อนสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปได้รับเข็มที่ 3 ร้อยละ 37.2 จังหวัดที่อัตราฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 70 หรือตามเป้าหมายคือ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม ลำพูนและชัยนาท ส่วนที่ฉีดมากกว่าร้อยละ 60 เช่น เชียงราย แพร่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และยโสธร
สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มช่วงสงกรานต์
“ปัจจัยเสี่ยงระบาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังเป็นการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน ยังพบรายงานเสียชีวิตทุกวัน เป็นการติดเชื้อจากญาติหรือคนไปเยี่ยม ดังนั้น ต้องรับวัคซีนแม้จะอยู่ในบ้าน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ ก็เสี่ยงติดเชื้อจากเพื่อน ตลาด ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ส่วนข้อมูลฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุเพื่อเตรียมพร้อมเข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ลดเสียชีวิตได้ 31 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้วัคซีน และการฉีดเพียง 2 เข็ม ลดการเสียชีวิตลงได้ 5 เท่า” พญ.สุมนีกล่าว
เด็ก5-11ปีได้เข็ม1เข็ม2ไม่ถึง50%
และว่า สำหรับวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี มีจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว ร้อยละ 45.7 เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว ร้อยละ 1.3 ถือว่ายังน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันยังน้อย อีกทั้ง เชื้อพัฒนาตลอด โดยการระบาดของเชื้อโควิดโอมิครอนนั้น มีรายงานติดเชื้อในเด็กอยู่ตลอด ช่วงปิดเทอมนี้ขอให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนให้มากขึ้น ขณะนี้มีวัคซีน 2 ชนิดที่ได้รับรองความปลอดภัยให้ฉีดเด็กเล็กคือ วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ ฝาสีส้ม อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำ 3 สูตรคือ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ ห่างกัน 8 สัปดาห์ เชื้อตาย-ไฟเซอร์ห่างกัน 4 สัปดาห์ และเชื้อตาย 2 เข็ม ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์ห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 สัปดาห์
ห่วงเด็กเล็กกว่า5ปีย้ำพ่อแม่ดูแลเข้ม
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า ส่วนเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถรับวัคซีน ดังนั้น มาตรการส่วนบุคคลของพ่อแม่และผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้ติดเชื้อ อีกสิ่งที่ฝากย้ำเตือนคือ ช่วงนี้เด็กปิดเทอม และมักมีกิจกรรมรวมกลุ่มในร้านเกม เป็นอีกสถานที่เสี่ยง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด แออัด ระบบอากาศไหลเวียนไม่ดี จึงขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กไปเล่น ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงความปลอดภัย เช่น ลดจำนวนเครื่อง จำกัดเวลาเล่นของเด็ก เพื่อลดความเสี่ยง
ป่วยหนักขยับครองเตียงทั่วปท.28%
พญ.สุมนี ยังกล่าวถึงผู้ที่อยู่ในระบบรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) สนาม 186,097 ราย รพ.ทั่วไปอีก 64,048 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,862 ราย ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 781 ราย พบผู้ป่วยอาการหนักมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน อัตราครองเตียงทั่วประเทศร้อยละ 28.3 คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเตียงทั้งหมด ซึ่งระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์โควิดปี 2564 ถือว่าน้อยกว่ามาก แต่ยังประมาทไม่ได้
เตือนเคร่งมาตรการสธ.ลดติดเชื้อ-ตาย
“สถานการณ์ผู้ป่วยรุนแรง ผู้เสียชีวิตอยู่ในคาดการณ์ของ สธ. ปัจจุบันทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น มาตรการที่ต้องให้ความสำคัญ VUCA คือ Vaccine วัคซีนเข็มกระตุ้น Universal Prevention ป้องกันตัวเองสูงสุด ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน Covid Free Setting เนื่องด้วยเราเปิดประเทศ ไม่มีการล็อกดาวน์ งดทำงาน ฉะนั้น มาตรการองค์กรจึงสำคัญ และ ATK ทั้งหมดยังมีความสำคัญ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ขึ้นไปยังเส้นสีแดง” พญ.สุมนีกล่าว
7วันตายเกิน80คนส่วนใหญ่ป็นกลุ่ม608
พญ.สุมนีกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม- 5 เมษายนรวม 7 วัน พบรายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่มากกว่า 80 รายทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรัง สำหรับรายงานผู้เสียชีวิตวันนี้ 91 ราย เป็นผู้สูงอายุ ร้อยละ 74 โรคเรื้อรัง ร้อยละ 19 โรคที่พบรายงานทุกวันคือ โรคอ้วน มะเร็ง ไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ โดยมีเด็กเล็กเสียชีวิต 2 ราย คือ เด็กชาย 5 เดือน จ.ตราดและเด็กหญิงชาวเมียนมา จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อจากครอบครัว มีอาการปอดอักเสบทั้งคู่ ทั้งนี้ ถ้าดูประวัติการฉีดวัคซีนของผู้เสียชีวิตวันนี้ พบไม่ได้รับวัคซีนเลย 42 ราย คิดเป็น 46% ได้รับ 1 เข็ม 9 ราย คิดเป็น 10% ได้ครบ 2 เข็มนานกว่า 3 เดือน 31 ราย คิดเป็น 34% ได้รับครบ 2 เข็มยังไม่เกิน 3 เดือน 3% และรับวัคซีน 3 เข็มแล้วอีก 6 รายคิดเป็น 7% ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำคัญมากในการลดอัตราเสียชีวิต
สั่งยกระดับคัดกรองกลุ่ม608ติดโควิด
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ย้ำการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม 608 ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่แข็งแรงปกติ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคัดกรองผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ากลุ่มอาการสีเหลือง ให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลอย่างด่วนที่สุด โดยสามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามเกณฑ์ UCEP plus ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ หากเตียงในโรงพยาบาลมีจำกัด ขอให้เจ้าหน้าที่ประสานเครือข่ายในพื้นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย ต่อไป พร้อมขอให้กลุ่ม 608 รวมทั้งเด็กเล็กรีบเข้ารับวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี