‘กสม.โพล’เผยคนรุ่นใหม่ชี้‘สมรสเท่าเทียม-ทำแท้ง’เป็นสิทธิ หนุนปลด‘โสเภณี’พ้นอาชีพผิดกฎหมาย
7 เม.ย.65 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งขาติ (กสม.) มีการเปิดเผยกรณีที่ กสม. ได้จัดนิทรรศการ “มองให้ชัด ยืนหยัดเพื่อสิทธิทุกคน” ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้น Tik Tok ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ระหว่างวันที่ 1-13 มี.ค. 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม 5 หัวข้อ
โดยมีผู้ลงความคิดเห็น (โหวต) ทั้งสิ้น 45,284 โหวต รายละเอียดดังนี้ 1. Sex Worker หรือการขายบริการทางเพศ ควรเป็นอาชีพถูกกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,266 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48 และไม่เห็นด้วย 112 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52 2.ชายและหญิงเท่านั้นที่สมรสได้ตามกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 143 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52 และไม่เห็นด้วย 9,264 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48
3.ผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้ง มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,238 โหวต คิดเป็นร้อยละ 97.53 และไม่เห็นด้วย 183 โหวต คิดเป็นร้อยละ 2.47 4.เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ไม่มีวุฒิภาวะพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ มีผู้โหวตเห็นด้วย 2,313 โหวต คิดเป็นร้อยละ 24.20 และไม่เห็นด้วย 7,246 โหวต คิดเป็นร้อยละ 75.80 และ 5.การประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรม มีผู้โหวตเห็นด้วย 6,307 โหวต คิดเป็นร้อยละ 54.75 และไม่เห็นด้วย 5,212 โหวต คิดเป็นร้อยละ 45.25
น.ส.รตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมทั้ง 5 ข้อ สรุปได้ว่า ผู้ลงคะแนนโหวตซึ่งโดยมากเป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 และ 20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
และในอีกประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า ผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าอาชีพพนักงานบริการทางเพศ หรือ Sex Worker ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ขณะที่ประเด็นสิทธิเด็ก ผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่ เห็นว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในเรื่องต่างๆ
อันสอดคล้องและไปเป็นตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี สำหรับประเด็นการสมรสเท่าเทียมของคนทุกเพศได้รับเสียงโหวตเห็นด้วยเกือบทั้งหมด อย่างไรก้ตาม ผลโหวตประเด็นโทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมหรือไม่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ประมาณร้อยละ 55 ต่อร้อยละ 45
“การสำรวจความคิดเห็นจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเพื่อวัดการรับรู้และมุมมองของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ยังเป็นข้อถกเถียง ซึ่งแม้จะไม่ได้สะท้อนความเห็นที่แท้จริงของคนในสังคมทั้งหมด แต่ในทุกประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่ กสม. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ กสม. โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มุมมอง และความเชื่อ ของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป” น.ส.รตญา กล่าว
รองเลขาธิการ กสม. ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นนิสิต-นักศึกษา รวมถึงคนวัยทำงาน ซึ่งก็คือประชากรเจนวาย แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานมา โดยสำหรับประเด็นสมรสเท่าเทียม กสม. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ กสม. ก็จะต้องหาคำตอบที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้แม้ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กสม. ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีประเด็นการถูกเลือกปฏิบัติ เรื่องห้องน้ำสาธารณะ ที่ กสม. เคยแถลงข่าวไปแล้ว ส่วนอีก 2 เรื่องอยู่ระหว่างหารือกับภาคีเครือข่าย คือ 1.การเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น นาย นาง นางสาว หรืออื่นๆ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ กับ 2.การสมรส ซึ่งมี 2 แนวทาง คือการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“เรื่องพนักงานบริการทางเพศ หรือ Sex Worker ก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่าพนักงานเหล่านี้มักจะไม่ได้รับสวัสดิการ อย่างเช่นในสถานการณ์โควิด หลายคนอาจจะเข้าไมถึงสวัสดิการของรัฐ เนื่องจากว่าไม่ได้มีการรับรองเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ดังนั้นก็มีการร้องเรียนเข้ามา เราก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบและปรึกษาหารือ” นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันการขายบริการทางเพศ ยังเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เช่น มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนคำราญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 6 ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำเพราะถูกบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
รวมถึง มาตรา 7 ระบุว่า ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น จึงมีความพยายามจากภาคประชาสังคมในการยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่อง.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี