"ตรีนุช"ย้ำ ศธ.ให้ความสำคัญครู ชี้บริบทสังคมโลกเปลี่ยน ต้องเร่งพัฒนาแม่พิมพ์สอนเด็กให้ทันการเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ครูไทย การศึกษาไทย กับการปฏิรูปประเทศ" จัดโดยสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.และ นายดิเรก พรสีมา ประธาน สคคท.พร้อมผู้นำองค์กรเครือข่ายกว่า 30 องค์กร เข้าร่วม ที่หอประชุมคุรสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ปัจจุบันโลกและบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ดังนั้น การขับเคลื่อนการศึกษาจึงมีความท้าทาย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เราต้องผลักดันและปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์การเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดต่างๆ ได้อย่างไร
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ตนจะนำข้อเสนอต่างๆขององค์กรครูที่ได้รับในวันนี้ ไปดูรายละเอียดก่อนว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอะไรได้บ้าง อะไรที่สามารถไปปรับเปลี่ยนระเบียบได้ก็จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อครูและบุคลากรทางการศึกษา และระบบการศึกษา ตนก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการผลักดันมาแล้วบ้างเรื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญ โดยนำมาร่วมเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็อยู่ในขบวนการพิจารณาของรัฐสภาและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งทาง ศธ.ก็มีตัวแทนใน กมธ.อยู่แล้ว ที่จะเร่งและจากที่ตนหารือกับนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็เห็นตรงกันว่าจะเร่งผลักดันให้เสร็จทันสมัยประชุมนี้
"เมื่อโลกเปลี่ยน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ที่มีอยู่กว่า 600,000 คน ต้องปรับตัว ซึ่ง ศธ.ให้ความสำคัญพยายามที่จะพัฒนาครู เช่น การสอนแบบ Active Learning เพื่อพัฒนาเด็กให้มีความรู้เท่าทันศตวรรษที่ 21 เป็นต้น รวมทั้งการสร้างโรงเรียนคุณภาพที่จะเป็นโรงเรียนแม่เหล็กให้โรงเรียนต่างๆ มาเรียนร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะตามเด็กที่หลุดจากระบบให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ทันเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2565 ซึ่ง ศธ.ได้บูรณาการเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงต่าง ๆเพื่อพาน้องกลับเข้าเรียนให้ได้มากที่สุด" น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึฏษามีส่วนสำคัญอย่างมาก ถ้าครูยังมีความทุกข์ใจ กังวลใจเรื่องภาระหนี้สินอยู่อาจจะมีความยากลำบากในการสอน ศธ.จึงได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ เช่น ร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อลดดอกเบี้ยให้ครู พร้อมกับจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด และสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น
ด้าน นายดิเรก กล่าวว่า สคคท.และเครือข่ายองค์กรครู ยื่นข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อเร่งผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จโดยเร็ว โดยขอให้แก้ไขกฎหมายให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ และบริหารงานวิชาการของตน 2.เร่งพัฒนาครูทั้งรัฐและเอกชน กว่า 600,000 คน ให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.ดูแลขวัญกำลังใจให้ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแรงทุ่มเทในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างมีคุณภาพ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี