17 พ.ค.2565 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เปิดเผยว่า หลักสูตรการศึกษาของชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเพียงหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะนำหลักสูตรใหม่ หรือ หลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ ตนก็ยังไม่เข้าใจ เพราะตอนนี้เราก็จัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่สมรรถนะอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีการปรับการจัดการเรียนรู้ เพราะเราติดตำรามากเกินไป ทำให้เวลาเรียนกับเนื้อหาที่จะใส่เข้าไปไม่สอดคล้องกัน นักเรียนจึงไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์ มีแต่เวลาจำกับทำความเข้าใจเท่านั้น แต่ถ้าครูรวมกลุ่มคุยกัน (PLC) และบูรณาการให้เป็นหน่วยการเรียนรู้เหมือนที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และอีกหลายโรงเรียนทำกัน ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข สนุก และอยากมาโรงเรียน เพราะเรียนรู้เรื่อง
“หลักสูตรใหม่ หรือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นกระบวนการ ยังไม่มีโรงเรียนไหนนำมาใช้เลย จึงยังบอกไม่ได้ว่า หลักสูตรนี้ดีจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะดีก็ได้ แต่ถ้าเป็นหลักสูตรเดิมก็ไม่ต้องรออะไร สามารถทำได้เลยแค่ปรับวิธีจัดการเรียนรู้เท่านั้น จริง ๆ แล้วส่วนที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวหลักสูตร แต่เป็นส่วนของการนำไปใช้ เพราะฉะนั้นเมื่อปัญหาเป็นส่วนของการนำไปใช้ก็ต้องปรับให้ถูกคน คือ ไปปรับที่พื้นที่ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะไปถึงสมรรถนะได้ และไม่ทำให้ครูสับสนด้วย”
ดร.เกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กังวลกันคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) มีตัวชี้วัดจำนวนมาก แต่ถ้าดูชื่อหลักสูตรคือ หลักสูตรอิงมาตรฐาน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปดูตัวชี้วัดแต่ให้ไปดูตามมาตรฐาน จะทำให้การติดเนื้อหาจากตัวชี้วัดน้อยลง ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความหมาย เช่น หน่วยการเรียนรู้ Cooking ที่หนูสนใจ ก็จะรวมตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัว ไม่จำเป็นต้องติดเนื้อหาทุกตัวชี้วัด ก็จะทำให้เด็กมีเวลาคิดสร้างสรรค์งานได้ ขณะที่หลักสูตรใหม่ที่กำลังทำกันก็เป็นการแก้ปัญหาตัวชี้วัด แต่เพราะเป็นการวิ่งตามผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Learning Outcome (LO) ทำให้โรงเรียนที่จะนำไปใช้ต้องไปแตก LO เอง ซึ่งยังไม่มีโรงเรียนใดทำเลย เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีการทดลอง ทำให้เข้าใจสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศ.กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่ได้ขัดอะไรเลย เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการ จึงอยากให้มีความชัดเจนเพื่อให้สามารถนำไปใช้อย่างสมบูรณ์
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า สำหรับเด็กไทยที่คว้า 1 ใน 6 รางวัลสูงสุด พร้อมกัน 10 รางวัลจากเวที “Regeneron ISEF 2022” การประกวดโครงงานของนักเรียนมัธยมศึกษา ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือ การเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งทำให้นักเรียนได้ต่อยอดองค์ความรู้ และนักเรียนที่เรียนด้วยการปฎิบัติก็จะเรียนอย่างมีความสุข
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี