มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กำหนดจัดกิจกรรมความร่วมมือ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับธนาคารโลก หรือ World bank โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยโดยมี รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงค์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 รวมทั้งผู้บริหารจากสองฝ่ายร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “การเป็นหุ้นส่วนในการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกในครั้งนี้ จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในฐานะขุมพลังความรู้ของพื้นที่และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพความสามารถในการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดึงดูดและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะอื่นๆ ในเมืองขอนแก่น รวมถึงเมืองเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ และนครสวรรค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่เมืองอื่นๆ ของประเทศไทยในอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “ในปัจจุบันเมืองต่างๆ เผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณและศักยภาพ ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ เราหวังว่าความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”
ความร่วมมือนี้จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธนาคารโลก นักวิจัยชาวไทย สถาบันภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากห้าเมืองในโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ การร่วมวิจัยบริบทของแต่ละเมืองและการเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติทั่วโลก และการหารือและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนและนักการเงินระหว่างประเทศ เพื่อระบุประเด็นปัญหาข้อจำกัด และทางออก
ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เผยว่า “ขณะนี้มีพื้นที่เมืองกำลังผุดขึ้นมาภายนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างโอกาสให้กับประชากรในพื้นที่ เนื่องจากเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเมือง เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เมืองเหล่านี้ได้มีทางเลือกในการพัฒนาเมืองของตนได้ดียิ่งขึ้น ธนาคารโลกมีบริการให้คำปรึกษาในลักษณะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจาก สกสว. โดยใช้บริการการให้คำปรึกษาโดยมีค่าตอบแทนกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงตามการร้องขอของประเทศนั้นๆ โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบ การศึกษา วิจัย และการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ธนาคารโลกมีความร่วมมือกับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ในช่วงแรก ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงสำหรับการพัฒนาในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเขื่อน การชลประทาน การผลิตไฟฟ้า รถไฟ และท่าเรือ ซึ่งล้วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมการผลิตและการค้าในประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือกับธนาคารโลกจะไม่ใช่แต่เพียงด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบริการให้คำปรึกษาและการศึกษาวิจัยจากธนาคารโลกอีกด้วย”
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงค์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท. กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา มีนโยบายเน้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางได้บิดเบี้ยวการจัดสรรทรัพยากร การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาของประเทศในอนาคต ดังนั้น ทิศทางนโยบายรัฐบาลสำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาคจึงเริ่มมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการเติบโตที่สมดุลและทั่วถึง
“การพัฒนาเมือง จึงเป็นทางเลือกทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ บนบริบทของประเทศไทยที่มีความแข็งตัวเนื่องจากการรวมศูนย์กลางที่จะกระจายโอกาสสู่ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ เป็นโอกาสที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในท้องถิ่นของเขาเอง และเป็นความท้าทายที่จะเป็นการร่วมมือของรัฐ ประชาชน และเอกชน ในกิจกรรมและการลงทุนต่างๆ ที่ผ่านมาในโปรแกรมวิจัยที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ มีการดำเนินการวิจัยผ่านสิ่งที่เรียกว่า กลไกใหม่ของการขับเคลื่อนเมือง โดยเน้นกรอบการเปลี่ยนแปลง 4 ด้านคือ วิธีการแก้ปัญหาและตอบโจทย์เมือง (City Solution) ข้อมูลและความรู้ (Data & Knowledge) กลไกทางสังคม (Social Mechanism) และ แบบแผน การลงทุน(Investment Scheme) โดยการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาถือว่าตอบโจทย์การเปลี่ยนไปที่ นโยบาย (Policy) เป็นหลัก”
ดังนั้นเพื่อเป็นการปลดล็อกขอจำกัดด้านความสามารถในการลงทุนในระดับพื้นที่ และสนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงฯ ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่อยู่ติดพื้นที่และมีความใกล้ชิดเข้าใจพื้นที่เป็นขุมกำลังของการพัฒนา หน่วย บพท. โปรแกรมวิจัยที่ 15 จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 15 ล้านบาท ให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่าย ทำงานร่วมกับธนาคารโลก ในโครงการวิจัย “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมือง” ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามในสัญญาการให้บริการให้คำปรึกษา ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่าย กับธนาคารโลก ในวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี