สธ.ยกระดับสกัดโรคฝีดาษลิง
ตั้งศูนย์ฉุกเฉิน
คัดกรองเข้ม3ประเทศเข้าไทย
‘อังกฤษ-สเปน-โปรตุเกส’
WHOแถลงป่วยทั่วโลก80คน
ต้องสงสัยอีก50ใน11ประเทศ
องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์พบผู้ป่วยฝีดาษลิงทั่วโลกแล้ว 80 ราย ต้องสงสัยติดเชื้ออีก 50 คน ใน 11 ประเทศที่ไม่ใช่แหล่งเชื้อ ขณะที่อิสราเอลพบผู้ป่วยรายแรกของประเทศและเป็นไปได้ที่เป็นรายแรกในตะวันออกกลาง โดยผู้ติดเชื้อกลับมาจากต่างประเทศ ขณะที่ก.สาธารณสุขไทยสั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินรับมือการระบาดฝีดาษลิง โดยเฝ้าระวังคัดกรองเข้มคนที่มาจากประเทศที่มีการระบาด โดยเฉพาะ 3 ประเทศ เข้าที่พบผู้ป่วยแล้วคือ “อังกฤษ – สเปน – โปรตุเกส” พร้อมเตือนเลี่ยงบริโภคของป่า-สัตว์ป่า
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั่วโลกเฝ้าจับตาการระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่เริ่มมีผุ้ติดเชื้อกระจายไปหลายประเทศและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ฝีดาษลิงโผล่อิสราเอล-รายแรกในตอ.กลาง
โดยกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล แถลงเมื่อค่ำวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่เป็นรายแรกในตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในกรุงเทลอาวีฟแล้ว สุขภาพทั่วไปยังแข็งแรงดี พร้อมกันนี้รัฐบาลยังประกาศเตือนผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศที่มีไข้และรอยโรคพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย
WHOพบผู้ป่วยแล้ว80รายทั่วโลก
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยฝีดาษลิงแล้วประมาณ 80 คนทั่วโลกและผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีกประมาณ 50 คนที่ผ่านมาโรคฝีดาษลิงมักพบเฉพาะคนที่อาศัยอยู่หรือเดินทางไปแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง แต่ผู้ป่วยที่พบเมื่อไม่นานมานี้ในอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี สหรัฐ สวีเดนและแคนาดาส่วนใหญ่เป็นชายอายุน้อยที่ไม่มีประวัติไปแอฟริกา นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยในฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียมและออสเตรเลียด้วย
สำหรับเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคฝีดาษลิงนี้ ต้นกำเนิดอยู่ในไพรเมต ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทวานรและสัตว์ป่าประเภทอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้ หนาวสั่น เหนื่อยล้า ส่วนผู้ป่วยอาการหนักจะมีผื่นและรอยโรคบนใบหน้า มือและส่วนอื่นของร่างกาย
เตือนงดกินของป่า-สัตว์ป่า-สัตว์ป่วย
ในส่วนของประเทศไทยนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มกำลังระบาดในยุโรปแล้ว พบผู้ติดเชื้อในโปรตุเกส 6 ราย ขณะที่ยังมีผู้ป่วยอีกมากกว่า 12ราย ที่อยู่ระหว่างตรวจวินิจฉัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงหรือไม่ ซึ่งการระบาดมีลักษณะติดต่อแบ่งเป็น 1.จากสัตว์สู่มนุษย์ จากการสัมผัสทางผิวหนังหรือเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก หรือตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือการนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร รวมทั้งถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัส เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น 2.จากมนุษย์สู่มนุษย์ทางหลักติดต่อผ่านละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน
ด้านพญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวถึงอาการเริ่มต้นของโรคฝีดาษลิงว่า จะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองโต ข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษคือ ในฝีดาษจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่ในฝีดาษลิงจะเกิดขึ้นภายใน 1–3 วัน หลังมีอาการป่วย จะเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากนั้นผื่นจะนูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด การดำเนินโรคจะใช้เวลาประมาณ 2–4 สัปดาห์ ขณะที่ อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 มีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจด้วยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir, Tecovirimat และ brincidofovir ปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกาคือ JYNNEOS
‘การป้องกันเบื้องต้นแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ กรณีพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่แยกกักตัวผู้ป่วยได้ หลีกเลี่ยงการเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง’ พญ.มิ่งขวัญกล่าว
สธ.ตั้งวอร์รูมรับมือ’ฝีดาษลิง’
ขณะที่นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือการระบาดฝีดาษลิงในประเทศไทยว่า กรมควบคุมโรคในฐานะเป็นหน่วยงาน มีหน้าที่ป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ จึงตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงการณ์ยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแล้วประมาณ 80 ราย และมีผู้ป่วยสงสัยเป็นฝีดาษลิงอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 50 ราย ใน 11 ประเทศที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิงและมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศ โดยผู้ป่วยรายแรกที่พบในการระบาดครั้งนี้เป็นผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรอังกฤษ มีประวัติเดินทางไปไนจีเรียช่วงปลายเดือนเมษายน ทำให้อังกฤษจึงเริ่มเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ขณะนี้พบผู้ป่วยมากกว่า 100 รายแล้วจาก 15 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และกรีซ
ไทยยังไม่พบผู้ป่วยแต่ต้องเฝ้าระวัง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับไทยนั้น ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ระยะนี้เป็นช่วงเริ่มเปิดให้เดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด - 19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมันนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้ ทั้งช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งนี้ จากข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรครายงานว่า จำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจากประเทศเสี่ยงสูง ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส โดยระหว่างวันที่ 1-22 พฤษภาคมนี้ มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน
จับตาคัดกรองเข้มนทท.เน้น3ปท.
“กรมควบคุมโรคยกระดับเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงเหล่านี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในไทยก็ตาม หลังกลับจากประเทศที่มีการระบาดให้สังเกตอาการตัวเอง ถ้าพบมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขนและขา ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง 2) ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด หลีกเลี่ยงสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงน้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านสารคัดหลั่ง ทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม ซึ่งกรมควบคุมโรคจะเฝ้าระวังใกล้ชิด และแจ้งให้ประชาชนทราบข้อมูลต่อเนื่อง มีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ 02 5903839 หรือ สายด่วน 1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี