นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าวร่วมงานสื่อมวลชนสัญจรและพิธีลงนามสัญญาเงินทุนสนับสนุน “เทคโนโลยีการทำนา และมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการทำนาที่ยั่งยืนและลดโลกร้อน” Thai Rice NAMA โดยมีนายไรน์โฮลด์เอลเกส ผอ.องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายเฉลิมชาติ ฤาไชยคาม ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
นายกฤษ เปิดเผยว่า หลักสำคัญของการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เทคโนโลยี 4 ป.ได้แก่ ป.ที่ 1 คือปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ให้ราบเรียบสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงนา ช่วยให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิต คุณภาพ และกำไรที่ได้จากการผลิตข้าว ป.ที่ 2 เปียกสลับแห้ง คือการจัดการน้ำที่จะช่วยลดการใช้น้ำในแปลงนา ป.ที่ 3 ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินคือการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำเพื่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่ดี และ ป.ที่ 4 แปรสภาพฟางข้าวและตอซังข้าวแบบปลอดการเผา และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยด้วยว่า ได้ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ผ่านกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้สู่เกษตรกรรายย่อยอย่างครอบคลุมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ ซึ่ง จ.ปทุมธานี เป็น 1 ใน 6 จังหวัดตามเป้าหมายของโครงการฯ และเกษตรกรที่เข้านำเทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ในพื้นที่ทำนา เป็นการแสวงหาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในภาวะความแปรปรวนของฤดูกาล และตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนให้ชาวนาไทยและข้าวไทยก้าวไปสู่สากล
“ปัจจุบันภาคการเกษตรมีเศษฟางที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ดี เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ชาวนาส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง บ้างก็เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่างๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย ซึ่งการเผาฟางอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะ และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง” นายกฤษกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี