คณะแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการด้านยาเสพติด เยาวชน และสุขภาพจิตระดับประเทศ 20 คน ในฐานะ “เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด” อาทิ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addictionand Mental Health, Canadaรศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย ฯลฯ ออกประกาศข้อเท็จจริงที่ควรทราบ “สังคมไทยจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป” โดยเนื้อหาระบุว่า
1.กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงนามวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565) จะมีผลบังคับใช้หลังพ้น120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศฉบับนี้กำหนดให้เฉพาะ “สารสกัด” ที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เท่านั้น ที่เป็นยาเสพติด ส่งผลให้ “พืชกัญชา (เช่น ช่อดอก ซึ่งไม่ใช่สารสกัด แต่มี THC สูงถึงร้อยละ 10-20)” จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป (ดูภาคผนวก 1 สำหรับคำอธิบายละเอียด)
ซึ่งเท่ากับเป็นนโยบายกัญชาเสรีไปไกลเกินกว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์มาก ทุกคนสามารถสูบช่อดอกกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ (หมายเหตุ : พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการห้ามเสพกัญชา เนื่องจากในสมัยนั้นกัญชายังเป็นยาเสพติด)
2.ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดในระดับหนึ่ง ได้ถูกบรรจุในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระ 1 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรตามระเบียบมาตรฐานและจะต้องเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป กระบวนการทั้งหมดนี้จึงต้องใช้เวลา และไม่มีทางเสร็จสิ้นทันก่อนวันที่ 9 มิถุนายนนี้ จึงจะส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางนโยบาย
คือ กัญชาจะเป็นพืชที่ไม่เป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป และจะไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ประชาชนทุกครัวเรือนจะสามารถปลูกและใช้กัญชาได้เหมือนการปลูกพริก ปลูกผัก ทั่วไป หากไม่นำกัญชาไปสกัด แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ...
ภาพประกอบภาคผนวก 1 : โครงสร้างประเภทของพืชและสารสกัดที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญที่ผู้สูบกัญชามีต่อผู้อื่นในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุแต่ไม่ได้เป็นการแก้ต้นเหตุ คือ ไม่สามารถควบคุมการปลูกและการนำช่อดอกกัญชาไปสูบโดยเยาวชนหรือประชาชนแต่ประการใด ทำให้สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีการนำช่อดอกกัญชาที่ปลูกในครัวเรือน(ซึ่งสามารถปลูกได้โดยไม่จำกัดจำนวน) ไปสูบโดยเด็กและเยาวชน และแม้แต่ผู้ใหญ่ มากเพียงใด
ดังที่เริ่มมีเยาวชนไทยเริ่มทดลองสูบกัญชาที่ปลูกในบ้านเพื่อน ด้วยอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเองจากการดู YouTubeหลังจากที่มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ (ดูภาคผนวก 2 สำหรับภาพการสูบกัญชาโดยเยาวชนไทย) อีกทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการสูบกัญชามากขึ้นในกลุ่มเยาวชนในประเทศแคนาดา และบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการ
3.แม้ประเทศที่ให้ใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ ให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เช่น ประเทศอุรุกวัย รัฐผูกขาดการค้าส่งในประเทศ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ซื้อขายในตลาดจะต้องบรรจุในถุงที่ไม่มีลวดลายใดๆ ถุงบรรจุนี้ระบุได้เพียงร้อยละของ THC และข้อความคำเตือนเกี่ยวกับการใช้กัญชา มีมาตรการห้ามโฆษณา ห้ามให้ทุนอุปถัมภ์ และห้ามส่งเสริมการขาย โดยสิ้นเชิง และมีมาตรการกำหนดไม่ให้เสพกัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะและมีมาตรการภาษีกัญชา
ส่วนประเทศแคนาดา รัฐผูกขาดการค้าส่ง มีการควบคุมการครอบครองกัญชาในที่สาธารณะ (เช่น ห้ามครอบครองเกินหนึ่งต้นกัญชาที่มีช่อดอกในที่สาธารณะ)ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชา หรือบรรจุภัณฑ์หรือสลาก ให้เยาวชนเห็น ส่งผลให้มีแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งห้ามเยาวชนเข้า(คือไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้เห็นได้ทั่วไป) ห้ามการโฆษณาโดยรูปแบบ/วิธีการ/เนื้อหาที่เยาวชนสนใจ
มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้ แต่ต้องไม่เกินครัวเรือนละสี่ต้น และห้ามปลูกให้เห็นได้จากที่สาธารณะนอกบ้าน และบริเวณที่ปลูกในบ้านต้องไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้(เช่น เด็กๆ ในบ้านต้องไม่สามารถเข้าถึงได้)และมีมาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น จึงสรุปได้ว่า แม้ประเทศที่ปล่อยให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ สามารถใช้เพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เพราะเล็งเห็นโทษที่จะตามมาหากปล่อยให้มีการใช้กัญชาในทางที่ผิดมากๆ จึงไม่มีประเทศใดในโลกที่กำหนดให้มีนโยบายกัญชาเสรีโดยไม่มีการควบคุมใดๆ
4.เงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุเครืองาม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในวันที่ 25 มกราคม 2565 ต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ แต่ให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน คือ เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด (เช่น สูบดอกกัญชาเพื่อการนันทนาการ) อย่างเพียงพอ ก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จริงๆ และยังได้อภิปรายในที่ประชุมว่าสามารถที่จะขยายเวลาออกไปได้อีกหากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด
จึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะพิจารณาชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ไปก่อน และจะยิ่งเป็นความสง่างามของกระทรวงสาธารณสุข หากกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาเสนอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ด้วยตนเอง เพื่อปกป้องสุขภาพของเยาวชนและประชาชน เนื่องจากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ
สำหรับรายนามบุคคลที่ร่วมลงชื่อในบทความนี้ ประกอบด้วย1.นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2.ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ 3.นางทิชาณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
ภาพประกอบภาคผนวก 2 : ภาพการสูบกัญชาในกลุ่มเยาวชน และภาพบ้องกัญชาที่ผลิตขึ้นเองจากการดู YouTube หลังจากการประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด
4.ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาลนักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada5.รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย6.ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.ศ.นพ.ชวนันท์ชาญศิลป์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
8.รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 9.รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด 10.ผศ.นพ.สหภูมิศรีสุมะ อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 11.ศ.ดร.พญ.สาวิตรีอัษณางค์กรชัย ศาสตราจารย์ สาขาระบาดวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
12.ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 13.ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปานที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตรอาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 15.นายพงศธรจันทรัศมี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
16.นายไฟซ้อน บุญรอด ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด 17.นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่นนักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ 18.นายวันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 19.นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี และ 20.รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยศาสตร์
ภาคผนวก 1 : การวิเคราะห์โครงสร้างการกำหนดสิ่งที่เป็นยาเสพติดในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า “ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (1) พืชฝิ่น (2) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย
(3) สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ยกเว้นสารสกัดดังต่อไปนี้ (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ” ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับล่าสุดนี้กำหนดให้ พืชฝิ่น (วงเล็บ 1) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย (วงเล็บ 2) และสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง (วงเล็บ 3) เป็นยาเสพติด
แต่ยกเว้นให้กับ สารสกัดที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 และสารสกัดจากเมล็ด เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (วงเล็บ 3.ก และ 3.ข) ซึ่งหากดูจากภาพ บริเวณสีเทาเข้มจะเป็นยาเสพติด บริเวณสีเทาอ่อนจะได้รับการยกเว้น ไม่เป็นยาเสพติด แต่บริเวณสีขาว คือ พืชกัญชา (เช่น ดอกกัญชา) ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับล่าสุดนี้ เพราะพืชกัญชาไม่ใช่สารสกัด
จึงมีคำถามสำคัญ คือ พืชกัญชา เช่น ช่อดอก ซึ่งไม่ใช่สารสกัด ยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอยู่หรือไม่?หากไม่เป็นยาเสพติดแล้ว ไม่ว่าผู้ใดซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนก็สามารถสูบช่อดอก (ซึ่งมี THC > 10% หรือถึง >20%โดยน้ำหนักได้) ได้ใช่หรือไม่? หากสูบแล้วจะมีบทลงโทษใดหรือไม่?!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี