สพฐ.สั่งลุย!ขับเคลื่อนเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ลงสู่ห้องเรียน
10 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ , นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. , นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และผู้แทนสำนักต่างๆของ สพฐ. กว่า 10 สำนัก เข้าร่วมการประชุมที่ห้องประชุม สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
นายอัมพร กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กำหนดแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างเสริมและปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยให้มีวินัย จิตสาธารณะ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาตามแนวทางดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยดำเนินงานตามนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ผู้เรียน เพื่อพัฒนางานและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมนำสู่สังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และมีคุณธรรม รักความเป็นไทย โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และกิจกรรมจิตอาสา รวมทั้งพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพและหน่วยงานอื่นด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
นายอัมพร กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม สพฐ. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งเป็นจุดเน้นสำคัญและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเลขาธิการ กพฐ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นที่ปรึกษา และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักต่างๆของ สพฐ. ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อหารือแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยการเรียนรู้ผ่านวิชาและกิจกรรมด้านประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งแต่ละสำนักที่มีงานในส่วนเกี่ยวข้องที่กำลังดำเนินงานอยู่แล้ว ได้มาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่สถานศึกษา โดยเฉพาะครูและผู้เรียนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นภาพรวมใหญ่ของ สพฐ. รวมทั้งสื่อสารกับสาธารณชนโดยทั่วไป
“ผลสรุปการประชุมจะมีการรวบรวมการดำเนินการของแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ รวมทั้งรายการสื่อ เอกสาร และแนวทางการเรียนรู้สำหรับครูและผู้เรียน เพื่อใช้ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและไปในทิศทางเดียวกัน ให้สามารถพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายใน สพฐ. และหน่วยงานภายนอก รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน และแบ่งปันทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งต่อไปจะได้มีแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานด้านประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาครูและบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการจำเป็น ให้มีทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยไม่สร้างภาระให้กับครู และมีระบบสนับสนุน การให้คำแนะนำ นิเทศ กำกับติดตามในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เพื่อถอดบทเรียนให้ได้แนวปฏิบัติที่ดี สามารถนำไปเผยแพร่และสื่อสารแก่สาธารณชนในวงกว้างต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี