วันที่ 14 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ “ความดาดหวัง การเตรียมความพร้อม และการเข้าถึงบริการทางสังคม เพื่อการสูงวัยอย่างมีพลัง” ณ รร.แกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน แยกพระราม 9 ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
ซึ่งในช่วงหนึ่งของงาน รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลสำรวจที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย “ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” ในประเด็นสุขภาพ ว่า สุขภาพดีคือความมั่นคง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งเพิ่มมูลค่า เพราะการมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง นอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานสร้างรายได้พึ่งพาตนเองได้ยาวนานขึ้นด้วย
โดยในปี 2559 เคยมีการศึกษาความคุ้มค่าด้านสุขภาพหากบุคคลเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่อายุ 20 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นตัวเงิน พบว่า เพศชายจะอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ส่วนเพศหญิงจะอยู่ที่ 3.7 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พบว่าร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ไม่ได้ออกกำลังกายเลย อีกทั้งพบว่า Generation Y และ Generation Z มีสัดส่วนไม่ได้ออกกำลังกายสูงกว่า Generation X นอกจากนี้ ร้อยละ 19 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้เตรียมตัวด้านสุขภาพ จึงมีข้อเสนอแนะให้สร้างความตระหนักกับประชาชนในเรื่องนี้
“ในแบบสอบถามก็มีข้อคำถามให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุสถานะสุขภาพ 0 คือแย่ที่สุด และ 10 คือดีที่สุด ใช้คะแนนระดับ 7 ขึ้นไป ใช้เกณฑ์ที่ระดับ 7 เป็นเกณฑ์ว่าผู้ตอบแบบสอบถามสุขภาพดีหรือไม่ Generation Z อายุ 18-26 ปี ที่คิดว่าตัวเองสุขภาพดี ที่ 57.6% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่า Generation X และ Generation Y ที่อายุมากกว่าเสียอีก พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของทุกรุ่น โดยเฉพาะ Generation Y และ Generation Z พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ หลายคนนอนดึกเพราะดูซีรีส์และเล่นเกม โดยเฉพาะช่วง work from home แล้วก็เรียนออนไลน์ ก็ใช้ชีวิตกันหักโหมมาก” รศ.ดร.จงจิตต์ กล่าว
รศ.ดร.จงจิตต์ ยังตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ประเด็นการใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ กับข้อจำกัดในการออกกำลังกาย เนื่องจากแต่ละคนต้องเสียเวลาไปมากกับการเดินทางไป-กลับระหว่างที่พักกับที่ทำงานจากปัญหาการจราจรติดขัด จะทำอย่างไร ว่า เรื่องนี้อาจเป็นความจริง เพราะการทำงานแต่ละวันต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศ และการเดินทางก็ต้องนั่งอยู่ในยานพาหนะเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่นำเสนอประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร เช่น มีอาหารสุขภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ เพราะหลายๆ ที่อาหารสุขภาพดีราคาสูงมาก นอกจากนี้ยังการศึกษาพบว่า หากได้พักเบรก 1-2 นาทีทุกชั่วโมง จะช่วยลดโอกาสป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อนึ่ง ในสถานประกอบการหลายแห่งพบการติดป้ายกระตุ้นให้เดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์ หรือการยืนประชุมแทนการนั่ง เป็นต้น
สำหรับงานวิจัย “ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-20 ก.ย. 2564 ได้กลุ่มตัวอย่าง 1,734 คน ทั้งหมดเป็นประชากรวัยแรงงาน อายุ 18-59 ปี โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น คือ Generation X (เกิดปี 2503-2522 อายุ 42-61 ปี) Generation Y (เกิดปี 2523-2537 อายุ 27-41 ปี) และ Generation Z (เกิดปี 2538-2553 อายุ 11-26 ปี) แบ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็น Generation X (อายุ 42-59 ปี) 418 คน Generation Y (อายุ 27-41 ปี) 748 คน และ Generation Z (อายุ 18-26 ปี) 568 คน นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายกลุ่ม 25 กลุ่ม จำนวน 126 คน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี