ภาพคนชรากับไม้เท้า เป็นภาพแห่งอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ไม่มีผู้ใดอยากจะเป็น ทำให้ผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จนกลายเป็น “สูงวัยพฤฒพลัง” หรือ “Active Agers” ที่ยังคงดูกระฉับกระเฉง และแข็งแรงอยู่เสมอ ทว่า จากข้อมูลโดย ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พบว่าผู้สูงวัยถึง 1 ใน 10 รายป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจึงปฏิเสธไม่ได้ถึงความจำเป็นในส่วนที่ยังคงต้องดูแล
นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์แผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ได้เปิดเผยข่าวดีสำหรับประชาชนแถบชานเมือง ภาคกลาง ภาคตะวันตก และประตูสู่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ต่อไปนี้ผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการรักษาถึง รพ.ศิริราช
แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกันและใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และทันสมัยเทียบเท่า โดยภายหลังจากเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ณ รพ.ศิริราช ต่อมาในปีเดียวกัน ได้มีการเปิดรักษาด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวเช่นกันที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าเอกชน และผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางได้ตามระเบียบราชการ โดยมีส่วนเกินบางส่วน
“ผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมระยะที่ 4 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้แก่ การปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก และจำเป็นต้องผ่าตัด สามารถมาติดต่อขอเข้ารับการวินิจฉัยเพื่อรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมดังกล่าวได้ ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมจะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยลง และเสียเลือดน้อยลง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น”นพ.นิมิตร กล่าว
รอง ผอ.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกฯ กล่าวต่อไปว่า หลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เพียง 2-3 วัน พบว่าผู้ป่วยสามารถฝึกเดินทำกายภาพ และกลับบ้านได้ ซึ่งความอัจฉริยะของหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ คือ ความแม่นยำสูงซึ่งสามารถผ่าตัดกระดูกได้ละเอียดถึง 0.5 องศา และบางกว่า 1 มิลลิเมตร ในขณะที่การผ่าตัดแบบธรรมดาสามารถตัดกระดูกได้บางที่สุดเพียง 2 มิลลิเมตร
อย่างไรก็ดี ในฐานะแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมาอย่างยาวนาน ก็ยังคงยืนยันให้ทุกท่านใส่ใจสุขภาพของตัวเองให้ดี ก่อนที่จะต้องมาพบแพทย์เมื่อสาย ซึ่งทำได้โดยหมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขา อันเป็นส่วนที่ช่วยพยุงข้อเข่า รวมถึงบริเวณรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรใช้งานข้อเข่าอย่างเหมาะสม ระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหลีกเลี่ยงการนั่งยองๆยกของหนักผิดท่า
และที่สำคัญที่สุดควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ โดยไม่ต้องใช้ยาทั้งนี้ ท่าบริหารเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมที่แนะนำ ได้แก่ การนั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นในแนวขนานกับพื้น ให้ข้อเข่า และขาเหยียดตรง พร้อมกับเกร็งบริเวณต้นขา แล้วนับ 1 ถึง 10 อย่างช้าๆ หรือประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยๆ ลดขาลง ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ต่อ 1 เซต วันละ 2-3 เซต
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าเรื้อรัง สามารถติดต่อเพื่อขอเข้ารับการวินิจฉัยได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. คลินิกพิเศษ วันจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 16.00-20.00 น.นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ นพ.ตะวัน อินทิยนราวุธนพ.ชัยวัฒน์ อาชวกุลเทพ หน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คลินิกข้อเข่าเทียม สอบถามเพิ่มเติมโทร. 02-8496600 ต่อ 2161 คลินิกพิเศษ โทร. 02-8496600 ต่อ 2160, 2164 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี