‘สสจ.เชียงใหม่’เตือนระวัง‘ไข้เลือดออก’ พบผู้ป่วยแล้ว 653 ราย
19 กรกฎาคม 2565 นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและสถานที่ต่าง ๆ ในการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อมูลว่า โรคไข้เลือดออกมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ในทศวรรษที่ผ่านมา โดย 70% ของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกอยู่ในทวีปเอเชีย โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดได้ตลอดทั้งปี พบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน จากการคาดการณ์สถานการณ์ พบว่าปี 2565 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปี 2564 มีการระบาดค่อนข้างน้อยและลักษณะการระบาดของไข้เลือดออกจะเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
จากการเฝ้าระวังของกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.เชียงใหม่ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 653 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ วัยทำงานช่วง อายุ 25-34 ปี และ 35 - 44 ปี รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-24 ปี ตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูง 5 จังหวัดแรก คือ เวียงแหง เชียงดาว พร้าวฮอด และอมก๋อย ตามลำดับ และเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และอำเภอเมือง
“คาดว่าในช่วงต่อจากนี้ (กรกฎาคม – สิงหาคม 2565) จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้น้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ที่อยู่บ้านช่วงวันหยุดยาว มีโอกาสถูกยุงลายกัดในช่วงกลางวันได้” นพ.วรัญญู กล่าว
นพ.วรัญญู กล่าวว่า จึงขอให้ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้ปกครอง ช่วยกันกำจัดแหล่งพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชน และรอบบ้าน โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก 2) เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง" ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ขอแนะนำว่า หากบุตรหลานหรือคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อรับประทานยาพาราเซตามอลแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1422 หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี