ฝนถล่ม11จว.
บ้านพังเสียหายเกือบ100หลัง
‘บิ๊กป้อม’ห่วงน้ำเจ้าพระยาล้น
ปภ.แจงเกิดวาตภัย 11 จังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนอุตุฯ เผยประเทศไทยยังมีฝนหนักบางพื้นที่ ด้าน “บิ๊กป้อม” ห่วงน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง สั่งเฝ้าระวังป้องกันเต็มที่
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมถึงกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้มีสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่ 11จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา นครนายก และนราธิวาส รวม 20 อำเภอ 31 ตำบล 56 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 91 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ทั้งนี้ แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 10 ตำบล 15 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 35 หลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 19 ตำบล 38 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 45 หลัง ภาคกลาง 1 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด โดย ปภ.ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้างหรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ประเทศไทย และทะเลอันดามัน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ สำหรับกทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาฯ
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานสภาพอากาศจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องมรสุมพาดผ่านลาวตอนบนและเมียนมา ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยสั่งการให้ สทนช.และฝ่ายปกครอง ประสานกับทหาร ตำรวจและจิตอาสา ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เตรียมแจ้งเตือนและให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทันที
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังใน จ.ระยอง จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ น่าน เลย พิจิตร และนครราชสีมา รวมทั้งระนอง ตรัง และนครศรีธรรมราช ขอให้บูรณาการเครื่องมือ เครื่องจักร เปิดทางเร่งระบายน้ำออก และประเมินความเสียหาย ช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2565 อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 1.9-2เมตร โดยอาจกระทบชุมชนริมเจ้าพระยานอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะแนวฟันหลอในพื้นที่ กทม.นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยขอให้เสริมคันกั้นน้ำชั่วคราว และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับจิตอาสา เข้าสนับสนุนและช่วยเหลือกันและกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี