สธ.ร่วม ตร.ปราบปรามยารักษาโควิดเถื่อน จับกุม 3 ผู้ต้องหา แอบนำเข้ายาจากอินเดีย เป็นยารวม 80,000 เม็ด มูลค่า 10 ล้านบาท มีทั้งฟาวิพิราเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และเรมดีสซิเวียร์ ถือเป็นยาไม่ขึ้นทะเบียนเตรียมทำลาย แจงยาต้านไวรัสไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ไม่จำเป็นต้องซื้อเก็บ
วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ พล.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. แถลงข่าวการจับกุมเครือข่ายขายยารักษาโควิดเถื่อน ว่าการจับเครือข่ายขายยาโควิดครั้งนี้สามารถยึดของกลาง เป็นยารวม 80,000 เม็ด มูลค่า 10 ล้านบาท โดยพฤติกรรมการลักลอบจำหน่ายยานี้ สืบเนื่องมาจากตำรวจ ปคบ.ได้สืบสวนพบมีการขายยาผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ประกอบด้วย ยาโมลนูพิราเวียร์, ฟาวิพิราเวียร์ และเรมดีสซิเวียร์ จึงได้ทำการล่อซื้อ โดยสามารถขยายผลจับผู้ต้องหาร่วม 3 คน ได้แก่ นายประเสริฐ, นางสาวขนิษฐา และนาวสาวฉลวยรัตน์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตร 72 (4) ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับยาที่จับกุมได้ในครั้งนี้ถือว่าเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่จำเป็นต้องสืบค้นว่าเป็นยาจริงหรือยาปลอม อย่างไรก็ตาม จะนำยาเหล่านี้ไปทำลาย ส่วนตัวไม่ได้ต้องการเอาผิดคนซื้อ แต่ต้องเอาผิดคนจำหน่าย เพราะผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่ายาที่ได้รับมีคุณภาพ และมีสารสำคัญตรงฉลาก และมีความปลอดภัยหรือไม่ ยืนยันรัฐจัดหายาเพียงพอ จ่ายยาตามดุลยพินิจของแพทย์ คนที่มีอาการสมควรได้รับยา และยาก็มีการสั่งซื้อยาเพียงพอจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน
พล.ต.อนันต์ กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน คือ ลักลอบนำเข้ายามาจากประเทศอินเดีย และสถานที่พักสินค้าและรอกระจายสินค้า ที่ บ้านพักในย่านลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. และที่บ้าน แขวงบางเชือก เขตตลิ่งชัน กทม. โดยพบว่า นายประเสริฐ เดิมมีอาชีพนำเข้านมเนยมาจากประเทศอินเดีย เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้นจึงผันตัวมาเป็นการนำเข้ายาแทน และเมื่อได้ออเดอร์ยา ก็จะมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ จึงอยากฝากเตือนประชาชนให้ระวัง เพราะอาจได้ยาไม่มีคุณภาพ
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ยาต้านไวรัสไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ที่จำเป็นต้องซื้อหาเก็บไว้ เพราะอาจหมดอายุ อีกทั้งการซื้อยาแบบออนไลน์ และเก็บเอาไว้จะมั่นใจเรื่องคุณภาพได้อย่างไร โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้ว 265 ล้านเม็ด, โมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด และเรมดีสซิเวียร์ 37,000 ขวด ส่วนสตอกยาภาพรวมในระดับภูมิภาคมีเพียงพอใช้ถึง 14 วัน และเติมไว้ต่อเนื่อง และสามารถเบิกจ่ายมายังส่วนกลางได้อีก สำหรับส่วนกลางมียาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ รวม 2.8 ล้านเม็ด และเรมดีสซิเวียร์ 7,000 ขวด และยังมีแนวคิดในการจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมดีสซิเวียร์ อีก 80,000 ขวด
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียน อย.มี 3 รายการ ฟาวิพิราเวียร์ผ่านการขึ้นทะเบียน 3 รายการ และเรมดีสซีเวียร์ผ่านการขึ้นทะเบียน 5 รายการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี