อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) กำลังเป็นที่น่าจับตาในปัจจุบัน เนื่องจากสอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก ซึ่งเป็นการใช้พลังงานทางเลือกจากไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจัดอยู่ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดย ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ RTEC ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนายางล้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การวิจัยและพัฒนาต้นแบบยางล้อของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสมรรถนะและต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สำหรับผู้ประกอบการผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์ไทย โดยนำเทคโนโลยีการพัฒนายางล้อรถประหยัดพลังงานที่ RTEC มีความรู้และประสบการณ์มานานนับทศวรรษ มาต่อยอดในการพัฒนายางล้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
“การจะพัฒนาคุณภาพยางล้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้มาตรฐานส่งออกนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหลักครบทั้ง 3 ด้านคือ ความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ความทนสึก และการประหยัดพลังงาน โดย RTEC จะได้คิดค้นสูตรยางขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว โดยนำยางธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติที่แข็งแรง มาผสมกับยางสังเคราะห์ สไตรีนบิวทาไดอีน (Styrene-ButadieneRubber, SBR) ชนิดที่ผลิตโดยกระบวนการด้วยพอลิเมอไรเซชันแบบสารละลาย (Solution polymerization)ที่เรียกว่า ยางเอส-เอสบีอาร์ (S-SBR)
เพื่อลดความต้านทานการหมุนของยางล้อ (Rolling Resistance) และช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งปัจจุบันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไปจะสามารถ
วิ่งได้ 80-100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ1 ครั้ง ด้วยสูตรยางที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้คาดว่าจะช่วยทำให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ในระยะยาวมากขึ้น”ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังจะพัฒนาให้ล้อยางรถจักรยานยนต์สามารถยึดเกาะถนนได้ดีขึ้นและทนการสึกได้ดีขึ้นเนื่องจาก “แรงบิด” ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของล้อยางขณะออกตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จะสูงกว่าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน คุณสมบัติด้านการทนสึกจึงมีความจำเป็นสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ โครงการวิจัยผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน โดย RTEC มีระยะเวลา 2 ปี
โดยในปี 2565 นี้เป็นปีแรกของงานวิจัยซึ่งจะเป็นการศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะของยางล้อรถจักรยานยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทไทย กับที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติชั้นนำ โดยเฉพาะในแง่มุมของความสามารถในการประหยัดพลังงานและการทนสึก สำหรับปีหน้า หรือในปี 2566 จะเป็นการดำเนินการร่วมกับบริษัทเอกชนไทยชั้นนำ ในการผลิตยางล้อรถเชิงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อการส่งออกไปขายในต่างประเทศด้วย
สำหรับ RTEC เป็นหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางไทยทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยางไทย จึงมีความพร้อมที่จะทุ่มเทใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน มาพัฒนางานวิจัยของอุตสาหกรรมยางไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การเพิ่มมูลค่า หรือให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.02-4419816-20 https://science.mahidol.ac.th/rtec
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี