วงโปงลางสินไซโชว์งดงามอลังการชุดการประกวดดนตรีพื้นบ้านโปงลางชิงถ้วยพระราชทานในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสานรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี ประจำปี ณ โคราชฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัลโคราช คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรางวัลประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
การประกวดวงโปงลางครั้งนี้ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญานันทนาการด้านดนตรีวงให้แพร่หลาย รวมทั้งให้เด็กและเยาวชนได้แสดงฝีมือทางด้านการแสดงดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านโปงลาง และรู้จักใช้เวลาว่าง ในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการจนเป็นวิถีชีวิต วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีก 1 วงโปงลางที่ส่งทีมเข้าร่วมประกวดและป้องกันแชมป์
ซึ่งปีที่ผ่านมาวงโปงลางสินไซก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ และสำหรับปีนี้ก็สามารถชนะใจคณะกรรมการผู้ตัดสินได้อีกครั้ง สามารถคว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาครองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมรับเงินรางวัล 100,000 บาท และสำหรับรางวัลอื่นๆ ที่ได้รับมาจากการประกวดในเวทีนี้ประกอบไปด้วย 1.รางวัลบรรเลงซออีสานดีเด่น 2.รางวัลบรรเลงโปงลางดีเด่น 3.รางวัลบรรเลงกลองดีเด่น 4.รางวัลบรรเลงแคนดีเด่น 5.รางวัลขับร้องลำ ดีเด่น 6.รางวัลแสดงชุดเทิดพระเกียรติ ฯ ดีเด่น
อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี หนึ่งในผู้ควบคุมทีมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วงดนตรีโปงลางที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ทีม และแนวความคิดของชุดการจัดแสดงครั้งนี้เป็นการเป็นการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติฯสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบรอบ 90 พรรษา โดยมีการร้อยเรื่องนำเอาเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีได้เสด็จฯเยือนอีสานเป็นครั้งแรกและสาเหตุที่เลือกเรื่องราวของจังหวัดนครพนมเป็นร้อยเรื่องของการแสดงนั้นเป็นเพราะสาเหตุหลายอย่าง กล่าวคือ ท่านได้เสด็จฯและประทับแรมที่จวนผู้ว่าฯหลังเก่าและเป็นจวนผู้ว่าฯหลังแรกของจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส (ศิลปะโคโลเนียล)
รวมถึงการรับอิทธิพลการแต่งกายแฟชั่นนิยมจากวัฒนธรรมตะวันตกในยุคนั้น อีกอย่างเมื่อพระองค์ท่านได้ทำภารกิจเสร็จเรียบร้อย ในตอนเย็นได้ทรงเยี่ยมชมทอดพระเนตรงานไหลเรือไฟ จึงได้เป็นแรงบันดาลใจถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวผ่านการแสดงเหตุการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญและน่าสนใจยิ่งต่อการอนุรักษ์และอีกหนึ่งอย่างลืมไม่ได้และมีส่วนเชื่อมโยงของจังหวัดนครพนมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำพระธาตุพนมมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย สำหรับผู้แสดงในวงสินไซนั้นมาจากหลากหลายคณะ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาดนตรีพื้นเมือง หรือนักศึกษานาฏศิลป์ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมการแสดงจากทุกคณะเข้าร่วมคัดเลือกเพื่อร่วมทีมวงโปงลางสินไซอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี