นวัตกรรมไทย
เครื่องตรวจโควิดรู้ผล5นาที
ติดเชื้อใหม่2,062ราย/ตาย28
ยอดติดเชื้อโควิดรายวันกลับมาทะลุ 2,062 ราย เสียชีวิตอีก 28 ศพ ป่วยปอดอักเสบลดเหลือ 785 คน ใส่ท่อหายใจอยู่ที่ 386 คน ขณะที่กรมการแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงความคืบหน้าการพัฒนาเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ ที่รู้ผลภายใน 5 นาทีแม่นยำถึง 97% ต้นทุน 10บ./คน เล็งนำมาใช้ในการประชุมเอเปค เดือนพฤศจิกายน
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ระบาดประจำวันของไทยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) 2,062 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 2,027 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,027 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 35 ราย ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 4,639,261 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 2,100 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 17,831 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักลดลงเหลือ 785 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจลดลงเหลือ 386 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 28 ราย ในจำนวนนี้จำแนกเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 18 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 32,109 ราย
ศบค.ยังสรุปความคืบหน้าการการกระจายวัคซีนในประเทศว่า มีผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม 3,673 ราย ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 7,885 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 21,697 ราย รวมฉีดวัคซีนสะสม 142,515,148 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 57,227,694 ราย คิดเป็น 82.3% ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 53,670,662 ราย คิดเป็น 77.2% และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 31,616,792 ราย คิดเป็น 45.5%
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่มรายวัน 700,610 ราย รวม 602,389,641 ราย ผู้ป่วยหนัก 43,802 ราย หายป่วย 577,157,368 ราย เสียชีวิต 6,476,104 ราย ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อใหม่ 53,456 ราย สะสม 95,537,994 ราย ส่วนไทยยังอยู่อันดับ 29 ของโลก
วันเดียวกัน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงความคืบหน้าการพัฒนาเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ จากการตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ อะซิโตน ที่มีมากในคนป่วยโควิด มีความแม่นยำ ใกล้เคียง RT-PCR หวังใช้ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยรศ.ดร.ภก.กอบธัม สถิรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงการพัฒนานวัตกรรมตรวจโควิดด้วยลมหายใจว่า เป็นการนำเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยลมหายใจมาพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ โดยพัฒนามาถึง 10 เวอร์ชั่น ตลอด 3 ปีของโควิดระบาด ซึ่งกลไกการตรวจวัดใช้แบบเดียวกันกับการตรวจน้ำตาลคือ ตรวจหาก๊าซในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อติดเชื้อโควิด ทั้งอะซิโตน ที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ต้องมีค่ามากกว่าปกติ เบนโซอิก และเปรียบค่าแปลผลกับการตรวจ RT-PCR พบว่ามีความไว 100% ความแม่นยำ 97% สำหรับลักษณะการตรวจ เพียงเป่าลมหายใจลงในถุงพลาสติก จากนั้นนำท่อมาต่อเชื่อมกับเครื่องเพื่อแปลผลภายใน 5 นาที
ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา รอง ผอ.รพ.ราชวิถี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนานวัตกรรมนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจหาโควิดในลมหายใจได้ดียิ่งขึ้น และคาดจะนำมาใช้ในการจัดการประชุมเอเปคเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากขณะนี้การพัฒนาในส่วนของซอฟแวร์เริ่มคงที่ เหลือเป็นระบบคีย์ออส ที่จะเชื่อมฐานข้อมูลของบุคคล
รศ.(พิเศษ)นพ.สถิตย์กล่าวต่อว่า คาดว่าเครื่องตรวจวัดโควิดด้วยลมหายใจนี้ จะเหมาะสำหรับใช้ในงานประชุมสัมมนา หรือสถานศึกษา เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน และมีต้นทุนเพียง 10 บาท/คน และเครื่องนี้มีต้นทุน 300,000 บาท ปัจจุบันมี 20 เครื่องแล้ว ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจพัฒนา มีแล้วในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี