ไทยเจอฤทธิ์หางพายุ 'หมาอ๊อน'
ถล่มหลายจว.
โคราชหนักสุด30ปี / นาจม2พันไร่
ปราจีนบุรี-ลำปางน้ำหลากท่วม
อุตุฯเตือน59จังหวัดฝนยังตกหนัก
สั่งปิดน้ำตกทุกแห่งหวั่นอันตราย
กรมอุตุฯ เตือน 59 จังหวัด ฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากกรมชลฯ แจ้ง 6 จังหวัดลุ่มน้ำป่าสัก-เจ้าพระยา เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เหตุเร่งระบายน้ำเพิ่มรองรับน้ำเหนือ ขณะที่ฤทธิ์หางพายุ “หมาอ๊อน”ถล่มหลายจังหวัดแล้วโคราชน้ำทะลักท่วมนา 2,000 ไร่หนักสุดรอบ 30 ปี น้ำป่าเขาใหญ่หลากท่วม ปราจีนบุรี นครนายก ขณะที่ลำปางท่วม 2 เขื่อนใหญ่ สั่งปิดน้ำตกหลายแห่ง ป้องกันอันตราย “บิ๊กป้อม” สั่งตั้งศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้า 4 พื้นที่
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 10 เรื่อง “พายุหมาอ๊อน”ระบุว่า พายุหมาอ๊อนมีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
อุตุฯเตือนระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน“หมาอ๊อน” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทั่วไทยเตรียมรับมือเกิดฝนตกหนัก
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาฯ ตั้งแต่ จ.ภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่ จ.กระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาฯ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.รวมพื้นที่เฝ้าระวังทั้งหมด 59 จังหวัด
กรมชลฯเตือน6จว.รับน้ำเหนือ
วันเดียวกัน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำป่าสักไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ จ.นนทบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ และประชาชนที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย โดยแจ้งเตือนฉบับที่ 1 มีการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็น 400-500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมนี้โดยควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่แม่น้ำป่าสักมากวัดปริมาณน้ำฝนได้159มิลลิเมตร ส่งผลระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลำน้ำสาขามีน้ำป่าไหลมาสมทบ ส่งผลให้ระดับน้ำ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพิ่มสูงขึ้นปริมาณน้ำดังกล่าวได้ไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ติดตามสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยา
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.นครสวรรค์ สถานี C.2 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,590 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา สถานี C.13 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,464 ลบ.ม.ต่อวินาที รับน้ำเข้าระบบฝั่งตะวันออก รวม 105 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยผ่านคลองชัยนาทป่าสัก (ปตร.มโนรมย์) 81 ลบ.ม.ต่อวินาทีคลองชัยนาท-อยุธยา (ปตร.มหาราช ) 20 ลบ.ม.ต่อวินาทีและคลองเล็กอื่นๆ 4 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำป่าสัก เขื่อนพระรามหก 469 ลบ.ม.ต่อวินาที รับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์24 ลบ.มต่อวินาที รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำฝั่งตะวันตก รวม 128 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยผ่านคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง (ปตร.มะขามเฒ่า-อู่ทอง) 10 ลบ.ม.ต่อวินาทีแม่น้ำสุพรรณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาทีแม่น้ำน้อย 70 ลบ.ม.ต่อวินาที และที่ อ.บางไทร สถานี C.29A ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,549 ลบ.ม.ต่อวินาที
โคราชอ่วมน้ำทะลักท่วมนาข้าว
ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ฝนตกหนัก ผลจากหางพายุหมาอ๊อน ทำให้มวลน้ำจากลำแอก ล้นทะลักเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรใน ต.ตลาดไทร อ.ประทาย ได้รับความเสียหายกว่า 2,000 ไร่ ระดับน้ำสูง1-2 เมตร ข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกำลังเติบโต ถูกน้ำท่วมมิดต้นข้าว นอกจากนี้มวลน้ำยังทะลักท่วมผิวจราจรจุดกลับรถใต้สะพาน ถนนประทาย-บ้านใหม่ไชยพจน์ ระดับน้ำประมาณ1 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถวิ่งผ่านได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องนำแผงเหล็กมากั้น แจ้งเตือนไม่ให้รถผ่านเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยเกษตรกรพื้นที่ดังกล่าว ระบุว่าน้ำท่วมหนักในรอบ 30 ปี ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
ฝนถล่มเมืองปราจีนฯท่วมหนัก
ส่วนที่ จ.ปราจีนบุรี หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมตลาดหน้าค่ายจักรพงษ์ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 40-50 เซนติเมตร จนมีรถจอดเสียหลายคัน ทหารต้องออกมาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้น้ำยังท่วมชุมชนบัวลายอีกหลายสิบหลังคาเรือน และในตัวเมือง ได้รับความเสียหาย โดยสาเหตุคาดว่าเกิดจากการระบายน้ำออกได้ล่าช้า ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ยังรับน้ำได้อีก หากฝนหยุดตก สถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้
นครนายกเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม
ขณะที่จ.นครนายก ภายหลังเกิดน้ำป่าไหลหลากที่น้ำตกวังตะไคร้ พบว่าได้มีน้ำป่าระลอกใหม่ไหลลงมาอีก ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ใกล้กับระดับเตือนภัยสีเหลือง 29.50 เมตร โดยระดับน้ำปรับเพิ่มขึ้นทุก 15 นาที ซึ่งทาง อบต.สาริกา ได้ตั้งศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีฝนตกปริมาณมากในพื้นที่ ต.สาริกา และพื้นที่อื่นๆ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
เฝ้าระวังน้ำจากเขาใหญ่ท่วมที่ลุ่ม
นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 60-90 จึงออกสำรวจปริมาณน้ำป่าที่ไหลมายังน้ำตกเหวนรก และน้ำตกเหวสุวัต น้ำตกสาลิกา น้ำตกนางรอง พบว่าน้ำไหลแรงและมีสีขุ่น จึงสั่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่ม ชุมชนที่อยู่ริมคลองซึ่งรับน้ำจากเขาใหญ่
นายชัยยา กล่าวต่อว่า ฝนที่ตกตลอดทั้งวันทำให้ต้องป้องกันอันตรายจากน้ำป่า จึงห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณน้ำตกเหวสุวัต โดยอนุญาตให้เข้าไปดูและถ่ายภาพบริเวณจุดชมวิวด้านบนได้ ส่วนน้ำตกเหวนรกและจุดชมวิวผาเดียวดาย ห้ามเข้าตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้ว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากดินสไลด์ หินถล่มจากภูเขา และได้ออกตรวจจุดเสี่ยงอันตรายต่างๆ ด้วย
ปิดน้ำตกเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก
ขณะที่ เพจ“อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-KhaoYai National Park”โพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์น้ำแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกต่างๆ ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแจ้งปิดการท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2565ประกอบด้วย น้ำตกเหวนรก น้ำตกนางรอง น้ำตกสาริกา น้ำตกเหวสุวัต และน้ำตกตะคร้อและแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกอื่นๆ เป็นการชั่วคราวเนื่องจากกรณีน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน
ลำปางถูกมวลน้ำ2เขื่อนหลากท่วม
ที่ จ.ลำปาง สถานการณ์แม่น้ำวัง มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับเตือนภัยสีเหลือง ส่วนที่ริมสองฝั่งแม่น้ำวัง เขตเทศบาลนครลำปาง เริ่มมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านแล้ว โดยเฉพาะชุมชนเขื่อนยาง และบ้านดงไชย ประมาณ 20 หลังคาเรือน ระดับน้ำเฉลี่ย20-50 เซนติเมตร และคาดว่ามวลน้ำก้อนใหญ่จาก 2 เขื่อนใหญ่ คือเขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา จะปล่อยน้ำเพิ่มอีกในปริมาณ 319-350 ลบ.ม.ต่อวินาที เข้าสู่ตัวเมืองลำปาง ซึ่งจะทำให้แม่น้ำวังมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้รายงานว่ามีปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้แม่น้ำวังเพิ่มระดับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ จึงขอให้ผู้ที่อาศัยริมสองแม่น้ำดังกล่าว เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
‘บิ๊กป้อม’ถกกอนช.แก้ปัญหาน้ำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือตามกรอบแนวทาง 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยที่ประชุมรับทราบและติดตามการดำเนินการของหน่วยต่างๆ ผลกระทบจากพายุโซนร้อน “มู่หลาน”ใน29 จังหวัดรวมทั้งรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ 3 เดือน และรับทราบการปรับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีผลทำให้น้ำเอ่อล้นพื้นที่ท้ายน้ำ 2 ฝั่งใน จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
สั่งตั้งศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้า
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบกรอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยจัดตั้งขึ้นในจ.พิษณุโลก ชัยนาท อุบลราชธานีและสุราษฎร์ธานี โดยให้พิจารณาจากการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำท่า เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะ ผวจ.ที่มีพื้นที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วม ให้ขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติเชิงรุกป้องกันน้ำท่วม 13 มาตรการ ทั้งนี้ ขอให้ สทนช.ประสานการทำงานร่วมกับกรมชลประทาน มีแผนสำรองและมาตรการรองรับการหน่วงน้ำ ผันน้ำ ประกอบการตัดสินใจ โดยให้ประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี