เมื่อวันที่ 11 ก้นยายน 2565 ที่บริเวณชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ อุบลราชธานี ได้เปิดครัวอาสาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมเนื่องจากปัจจุบันมีชาวบ้านกว่า 150 ครอบครัวกำลังเดือดร้อนจากสภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลวารินชำราบ ได้มีการอพยพหนีน้ำมายังศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณริมถนนหน้าโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลเมืองวารินชำราบ
สำหรับผู้ประสบภัยประกอบด้วยชุมชนท่าบ้งมั่ง ชุมชนเกตุเเก้ว ชุมชนหาดสวนสุข ชุมชนหาดสวนสุข โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อต้องการบรรเทาความเดือนดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส 2019 ที่อาจจะระบาดขึ้นเนื่องจากมีการอาศัยรวมกัน แต่ได้รับการปฎิเสธจากจังหวัดโดยให้เหตุผลว่ายังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทำให้ไม่สามารถส่งถุงยังชีพหรือความช่วยเหลือให้ได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชุมชนต่างๆได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อดูแลกันเองเนื่องจากเคยเผชิญปัญหาน้ำท่วมชุมชนอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งนี้ เครือข่ายอาสาชุมชมป้องกันภัยพิบัติ อุบลราชธานี ได้จัดทำ “ครัวกลางและคลินิกโควิดชุมชน” เพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วมระลอกใหญ่ที่กำลังจะตามมาหลังจากแม่น้ำมูลล้านตลิ่ง โดยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้อพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว และสร้างเต็นท์กองอำนวยการหลังสำนักงานที่ดิน สาขาวารินชำราบ ทุกวัน เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน และรับบริจาค โดยผู้ที่ต้องการบริจาคสามารถโทรสอบถามข้อมูลได้ที่ 085-0166609 , 099-4610234 , 088-7149685 หรือ ธนาคารกรุงไทย ประเภท ออมทรัพย์ สาขา วารินชำราบชื่อบัญชี เครือข่ายภัยพิบัติลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก จ.อุบลฯ โดย นางสุรีรัตน์ ขันลับ น.ส.สุอำพร อุตรา
และนางจำปี มรดก เลขที่บัญชี 314-078116-4
นางสุอำพร อุตา ชาวบ้านชุมชนหาดสวนสุข กล่าวว่า ในพื้นที่ชุมชนมีน้ำท่วมเกือบทุกปี โดยเฉพาะเมื่อปี 2562 น้ำท่วมหนักมากจนแทบไม่เหลืออะไร อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในหลายชุมชนได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในการช่วยเหลือกันเองพร้อมเฝ้าระวังภัยพิบัติ
“เราอยู่ที่นี่มากว่า 30 ปี จะให้ไปย้ายไปที่ไหนก็ไม่ได้เพราะปักหลักชีวิตกันที่นี่แล้ว ปีนี้น้ำเริ่มท่วมมาหลายสัปดาห์แล้ว ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องอพยพมายังศูนย์พักพิงชั่วคราว และทำครัวช่วยเหลือกันเอง” นางสุอำพร กล่าว
นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ อุบลราชธานี กล่าวว่า อาหารที่ชาวบ้านนำมาแจกกันเองส่วนใหญ่ได้จากการรับบริจาค เนื่องจากทางจังหวัดหรือแม้แต่หน่วยงานบางแห่งที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอ้างว่ายังให้ความช่วยเหลือไม่ได้เพราะยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตามชุมชนที่ประสบน้ำท่วมเหล่านี้ เกิดปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปีเพราะอาศัยอยู่ติดหรือใกล้แม่น้ำมูล เดิมทีพื้นที่เหล่านี้แม้ถูกน้ำท่วมในหน้าน้ำหลากแต่น้ำก็ไหลลงแม่น้ำมูลไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันได้มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆเกิดขึ้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังชุมชนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านทุกปี
“การควบคุมผังเมืองที่นี่มีปัญหา ชาวบ้านเคยสรุปบทเรียนของน้ำท่วมไว้ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวคือต้องเอาเขื่อนปากมูลออกไป เพราะเขื่อนทำให้บริเวณนั้นเป็นคอขวดทำให้ระบายน้ำได้ช้าจนต้องใช้เครื่องดันน้ำ ขณะเดียวกันควรรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำหรือแก้มลิงที่มีอยู่ไว้ให้ได้ เพราะปัจจุบันมีการนำพื้นที่เหล่านี้ให้เอกชนเช่าและถม-ปลูกสิ่งก่อสร้าง” นายจำนงค์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี