ปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลพิษและความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำแม่กลองบริเวณที่ราบแม่น้ำแม่กลอง บริเวณจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นอีกวิกฤติปัญหาที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลทางวิชาการและการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงจากแหล่งที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะมาจากชุมชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ และพื้นที่เกษตรกรรมแม้ว่าสถานประกอบการบางแห่งมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ประสิทธิภาพยังไม่เพียงพอ หรือบางแห่งมีการระบายน้ำทิ้งลงแหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัดก่อนทิ้งลงแม่น้ำ คูคลอง ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์น้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองหลายครั้ง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑลเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากวิกฤติปัญหาดังกล่าวที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สทนช.จึงได้จัดทำโครงการศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ขึ้น เพื่อหาแนวทางในการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรีตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่รอยต่อสามจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การศึกษารายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่รองรับน้ำอื่นที่ใกล้เคียง ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หากไม่มีมาตรการในการขับเคลื่อนและแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ ระบบนิเวศ และมลพิษทางน้ำอย่างรุนแรงได้ เพราะหากคุณภาพน้ำในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบผลิตน้ำประปา ที่มีแหล่งผลิตจากน้ำบาดาลและน้ำจืดจากแหล่งน้ำผิวดินตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงกับประชาชน
นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า การจัดเวทีระดมสมองภาคส่วนเกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเสียลุ่มน้ำแม่กลอง จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อปริมาณความต้องการน้ำ แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อนำมาประเมินปริมาณความต้องการน้ำ และแนวทางแก้ไขระบบการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ สำหรับผลดำเนินการความก้าวหน้าล่าสุดได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการศึกษาทั้งในด้านปริมาณความต้องการน้ำ 5 ประเภท ได้แก่ 1) การอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว 2) รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ 3) การเกษตรและชลประทาน 4) การปศุสัตว์ และ 5) การอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกประเภท
ขณะที่ระบบแหล่งน้ำก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำเช่นกัน การประเมินปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดและกิจกรรมต่าง ๆ การจัดทำรายการลำดับความสำคัญของปัญหาการจัดการน้ำเสีย และมลพิษทางน้ำ พร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการมลพิษทางน้ำใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ปัญหาน้ำเสีย และ 2) ปัญหาน้ำจืด – น้ำกร่อย – น้ำเค็ม การบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนและผู้ประกอบการ ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาในด้านต่างๆ พิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อเกณฑ์และแผนบริหารจัดการน้ำ แผน/โครงการด้านการจัดการ มลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องขนาด 30 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อ.ปากท่อ อ.บางคนที อ.เมือง อ.วัดเพลง และ อ.ดอนทราบ จ.ราชบุรี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และ อ.เขาย้อย บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อการพัฒนาศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนและผู้ประกอบการ เป็นต้น
“ปัจจุบันแหล่งน้ำสาธารณะ ลำน้ำหลัก และลำน้ำสาขา ในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีความสามารถในการรองรับน้ำเสียได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีระบบจัดการน้ำเสียบางส่วนจากชุมชนระดับท้องถิ่น แต่ยังขาดภาพรวมระดับลุ่มน้ำที่เกี่ยวกับศักยภาพการรองรับมลพิษของระบบลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา ตลอดทั้งลำน้ำ จึงจำเป็นต้องมีประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของลำน้ำสาธารณะในพื้นที่ เพื่อประยุกต์ต่อยอดผลการศึกษาในการจัดทำแผน แนวทาง มาตรการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันควบคุม และรักษาคุณภาพน้ำในระบบลำน้ำรอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี- ประจวบคีรีขันธ์ได้ครอบคลุมทั้งระบบ” นายสุรสีห์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สทนช.จะนำข้อสรุปทั้งหมดมาใช้ประกอบการพิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไปสู่การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี- ประจวบคีรีขันธ์ ผลการบริหารจัดการปัญหาคุณภาพน้ำที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และกำหนดสัดส่วนการระบายน้ำทิ้งที่เหมาะสมสำหรับแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงข้อเสนอในการพิจารณาถึงแนวทางการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดภาระในการใช้งบประมาณภาครัฐในการบำบัดในอัตราที่เป็นธรรมเหมาะสมเป็นไปตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเสียได้อย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี