อุตุฯ เตือน61จังหวัดทั่วไทย รับมือฝนตกหนักจนถึง 21 ก.ย.นี้ด้าน ปภ.เผย 12 จังหวัดยังถูกน้ำท่วม ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ลุยมีนบุรี จับตาจุดเปราะบาง เร่งแก้ไขระยะยาว ชี้มีฝนอีก 2 เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ อ่างทองอ่วมน้ำท่วมสูงกว่า1 เมตร นานนับเดือน โคราชเฝ้าจับตาลำตะคอง น้ำเพิ่มสูง-เตรียมรับมือพายุฝน
เมื่อวันที่ 18กันยายน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18-21 กันยายน 2565)” ฉบับที่ 6 ดังนี้บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้
อุตุฯเตือน61จว.ทั่วไทยรับมือฝน
สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดังนี้ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีภาคกลาง จ.นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกทม.และปริมณฑลภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จ.เพชรบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อ่าวไทย-อันดามันคลื่นปานกลาง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ปภ.ชี้ยังมีน้ำท่วม12จังหวัด-กทม.
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 34 จังหวัด รวม 93 อำเภอ 205 ตำบล 786 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,764 ครัวเรือน และ กทม.มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ ระยอง และจันทบุรี รวม 16 อำเภอ 44 ตำบล 274 หมู่บ้าน และ กทม.รวม 12 เขต 17 แขวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,545 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์ทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง
ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ทำให้ยังคงมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 114 ตำบล 615 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ.ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลผู้ประสบภัย และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมแล้ว
‘ชัชชาติ’ลุยมีนบุรีรับฟังปัญหา
วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมคณะ ลงพื้นที่เขตมีนบุรี ร่วมประชุมผู้ว่าฯ สัญจร โดยมีนายไพโรจน์ จันทรรอด ผอ.เขตมีนบุรี บรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินการ โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้รับฟังปัญหาและติดตามการดำเนินงานด้านต่างๆ
ชี้ฝนยังตกถึงเดือนต.ค.และพ.ย.
นายชัชชาติ กล่าวว่า มีนบุรีถือเป็นเขตสำคัญที่มีเมืองเจริญเติบโตขึ้น ปัญหาหลักๆ คือเรื่องน้ำท่วม มีชุมชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจำนวนมาก หลักการที่ให้นโยบายไป คือช่วงนี้ต้องดูแลจุดเปราะบาง ฝนยังไม่หยุดตกแค่นี้อาจจะมีมาอีกถึง 2 เดือน ถึงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้ ต้องอาศัยจังหวะนี้เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
“ปัญหาเขตมีนบุรี คือพื้นที่กระจายมาก ต้องมีการเสริมทางเดินที่เป็นไม้เผื่อฉุกเฉินชาวบ้านจะได้เข้าออกในชุมชนได้ โดยอยากให้แก้ปัญหาแบบระยะยาวเอาชุมชนเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งเบื้องต้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้นน้ำในคลองแสนแสบระบายไปได้มาก” นายชัชชาติกล่าว
ดูแลเรื่องคลองกับระบบระบายน้ำ
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า เรื่องต่อมาคือถนนหนทางและคลอง โดยคลองในเขตมีนบุรี มี 62 คลอง ซึ่ง11 คลองเป็นของสำนักระบายน้ำ และ 51 คลองเป็นของเขตที่ดูแล มีคลองเล็กคลองน้อยมาก ต้องดูว่ามีผลกระทบต่อการระบายน้ำหรือไม่ ส่วนถนนมีลักษณะเป็นหินคลุกตามท้องไร่ท้องนา 31 เส้นทาง เมื่อฝนตกถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ได้ให้นโยบายกับทางสำนักการโยธา เพื่อหาทางแก้ไข มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ว่ามีกลุ่มเขตไหนที่ต้องดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของเขตให้เข้มแข็งขึ้น
อ่างทองอ่วมน้ำท่วมนานนับเดือน
ที่ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ว่ายังคงส่งผลกระทบกับชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งท่วมมาแล้วนานนับเดือน และยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่วนบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกคันกั้นน้ำใน ต.ชัยฤทธิ์ ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย น้ำได้เอ่อล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนเพิ่มเติมอีก นับเป็นอำเภอที่ 4 ของ จ.อ่างทอง แล้ว ที่ถูกน้ำท่วม โดยน้ำท่วมบ้านเรือนรวมกว่า 700 หลังคาเรือน
ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทยังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนเพื่อรองรับน้ำเหนืออย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางจังหวัดอ่างทอง ต้องเตรียมความพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ
น้ำท่าจีนเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง
ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และน้ำหลากจากจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีน เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ริมตลิ่งที่ติดกับแม่น้ำ และพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต้องทยอยเก็บของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ชาวนาใน อ.บางปลาม้า ได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวเพราะเกรงว่าจะมีการระบายน้ำเข้าทุ่ง อาจจะทำให้ข้าวจมน้ำเสียหาย
ลำตะคองล้นตลิ่ง-โคราชเฝ้าระวัง
ที่ จ.นครราชสีมา ภายหลังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำไหลลงลำตะคองจำนวนมาก จนมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และได้เอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านพักในชุมชนซอยคุ้มวงศ์ ต.ในเมือง อ.เมือง ที่ติดกับลำตะคอง โดยทางเทศบาลนครนครราชสีมา ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานข้ามลำตะคองภายในชุมชนมิตรภาพ ซอย 4 เพื่อเร่งระบายน้ำในลำตะคอง และได้เตรียมรับมือกับพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ มีการติดธงสีน้ำเงิน แจ้งเตือนเฝ้าระวังภาวะน้ำท่วม ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ฉบับที่ 2 (44/25656) ซึ่งประกาศว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและประเทศเวียดนาม โดยทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
มท.1สั่งการตรวจจุดเสี่ยงไฟฟ้ารั่ว
วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติภัยจากไฟฟ้าทั้งไฟฟ้าช็อตและไฟฟ้าดูดที่อาจทำให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่นกรณีเหตุการณ์ไฟฟ้าดูดเนื่องจากฝนตกน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน จ.อุดรธานี จึงสั่งการให้จังหวัด กทม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงเร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว
จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเข้าช่วยเหลือ
รวมทั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง หากตรวจสอบพบมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลหรือประเมินว่าจะเกิดอันตรายให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าทันที พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนและสร้างการรับรู้ในการระมัดระวังตนเองจากไฟฟ้าที่มักความเสี่ยงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่มีฝนตกและมีน้ำท่วมขัง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี