‘ทรานซิสเตอร์’วิทยุพื้นฐาน! หลายชาติยังจัดเป็น‘อุปกรณ์เอาตัวรอดยามภัยพิบัติ’แม้ในยุคดิจิทัล
กลายเป็น “ดรามา” อีกแล้ว กับคำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกว่าทันทีหลังจากเคลียร์ตนเองจากปัญหาระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี โดยนับจากเดือน เม.ย. 2560 ซึ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาทำหน้าที่นายกฯ ก็ได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ว่าด้วยการรับมือและแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นกับคำพูดนี้
“สำหรับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลด้านสาธารณสุข ก็ต้องดูแลให้สามารถเข้าบริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการให้บริการไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ก็ต้องให้ใช้ได้นานที่สุด ถ้าระบบมันล่มไปทั้งหมด การสื่อสารแจ้งข้อมูลจะทำได้ลำบาก อาจจะต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนได้อีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นไฟฟ้าดับหมด ดังนั้นเราต้องเตรียมแผนตรงนี้ไว้ด้วยในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหา”
ความเห็นข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นที่ถกเถียงกัน โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่ชอบต่างพากันขยายความ มองว่า “บิ๊กตู่-ลุงตู่” แนะนำในสิ่งที่ “ตกยุค” ไปแล้วอย่าง “วิทยุทรานซิสเตอร์” เพราะสมัยนี้การสื่อสารทุกอย่างใช้อินเตอร์เน็ตกันหมดแถมโทรศัพท์มือถือก็กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของใช้ธรรมดาสามัญไปเรียบร้อย จึงเข้าใจได้ว่าหลายคนอาจนึกไม่ออกว่าวิทยุทรานซิสเตอร์มีประโยชน์กับภัยพิบัติอย่างไร แต่อีกด้านหนึ่ง เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศที่เจริญแล้วหลายชาติ ก็ยังแนะนำให้ประชาชนเตรียมวิทยุแบบนี้ซึ่งใช้แบตเตอรี่พื้นฐาน (แบบที่เราเรียกว่า “ถ่านไฟฉาย”) สำรองไว้ในแผนเผชิญภัยพิบัติด้วย
อาทิ สหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ ready.gov ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เว็บนี้ให้ความรู้กับชาวอเมริกันเรื่องการรับมือภัยพิบัตินานาประเภท โดยในหมวด “Build A Kit” หรือการเตรียมเครื่องมือเอาชีวิตรอด จะพบว่า “Battery-powered or hand crank radio and a NOAA Weather Radio with tone alert” หรือ วิทยุมือหมุนที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ และวิทยุที่มีระบบรับคลื่นสัญญาณของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งทำหน้าที่พยากรณ์อากาศในสหรัฐฯ (แบบเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย) ซึ่งเจ้า Battery-powered or hand crank radio ก็คือ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ที่คนไทยรุ่นก่อนคุ้นเคยกันดี แถมคำแนะนำของทางการสหรัฐฯ ยังจัดให้อยู่ในหมวด “Basic Disaster Supplies Kit” หรือสิ่งของพื้นฐานที่ควรมีอีกต่างหาก
เช่นเดียวกับ ประเทศอังกฤษ เว็บไซต์ redcross.org.uk ของสภากาชาดแห่งสหราชอาณาจักร (British Red Cross) เลือกหมวด “Get Help” จากนั้นไปที่หัวข้อ “how to prepare for emergencies.” และหัวข้อ “How to make an emergency kit” ซึ่งจะพบว่า หนึ่งในอุปกรณ์ที่กาชาดเมืองผู้ดีแนะนำให้ประชาชนเตรียมไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินคือ “Battery-operated radio and spare batteries, or a wind-up radio.” ก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์ โดยมีทั้งแบบใส่แบตเตอรี่และแบบมือหมุน
ประเทศออสเตรเลีย เว็บไซต์ infrastructure.gov.au ของกระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การพัฒนาระดับภูมิภาค การสื่อสารและศิลปะ เผยแพร่บทความ “How travellers can prepare for emergencies or natural disasters” แนะนำให้คนที่เดินทางท่องเที่ยวเตรียมอุปกรณ์จำเป็นเผื่อต้องเผชิญกับเหตุฉุกเฉินซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยหนึ่งในนั้นคือ “Pack a portable battery powered AM radio and a spare set of batteries.” หรือก็คือ “วิทยุรับคลื่น AM แบบพกพาพร้อมแบตเตอี่สำรอง” ก็หมายถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ แถมภาครัฐแดนจิงโจ้ยังเน้นคำว่า “AM radio” อีกต่างหาก
(ซึ่งก็เป็นเพราะในระบบวิทยุดั้งเดิม-อนาล็อก มี 2 ระบบ คือ AM กับ FM โดย AM เป็นคลื่นความถี่ที่ส่งไปได้ไกลกว่าเคลื่น FM แม้คุณภาพเสียงจะด้อยกว่าคลื่น FM ก็ตามนั่นเอง โดยบทความ “เครื่องรับวิทยุ AM FM ดิจิตอล” จาก บริษัท ไลท์ แอนด์ ซาวด์ บิสิเนส จำกัด ผู้รับจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบแสง-สี-เสียง ระบุว่า การใช้งานคลื่นเอฟเอ็มจะใช้กับการส่งวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร ซึ่งการส่งวิทยุระบบ FM จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าระบบ AM กล่าวคือ ย่านความถี่ที่ใช้ในการส่งจะเป็นอิสระกับชั้นบรรยากาศและการสอดแทรกของสัญญาณรบกวน คลื่นในย่านความถี่นี้ไม่สามารถสะท้อนกับชั้นบรรยากาศได้ทำให้ระยะทางในการส่งจะใกล้กว่าระบบ AM เพราะย่านความถี่ AM สามารถจะหักเหในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ทำให้คลื่นเดินทางได้ไกลกว่า)
ชาติเอเชียที่ภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่าง ญี่ปุ่น ก็ยังมีคำแนะนำให้พลเมืองชาวอาทิตย์อุทัย เตรียม “วิทยุแบบพกพา (Portable Radio)” ไว้เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน อาทิ The Japan Times หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเก่าแก่ในญี่ปุ่น เผยแพร่บทความ “JAPAN EARTHQUAKE TIPS: WHAT TO DO BEFORE, DURING AND AFTER” อ้างอิงข้อมูลจาก The Tokyo Metropolitan Government หรือสำนักงานบริหารท้องถิ่นกรุงโตเกียว (เหมือนกับ กทม. ของไทย) ให้คำแนะนำเรื่องการเตรียมพร้อมหากเกิดแผ่นดินไหว (ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นมักเจอเป็นประจำ) โดยให้วิทยุแบบพกพา อยู่ในหมวด “Before a quake” หรือการเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุ ในฐานะอุปกรณ์พื้นฐานชิ้นหนึ่งที่ควรมีไว้พร้อมรับเหตุฉุกเฉิน
ทั้งนี้ก็เข้าใจได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก เครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างอาจถูกลืมไป ดังเช่นในยุคที่มีไฟฟ้าใช้กันเป็นปกติ ตะเกียงและเทียนไขก็อาจจะไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของผู้คน หรือในยุคที่ GPS เป็นอุปกรณ์ธรรมดาสามัญ สามรถใช้งานได้ในมือถือสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่น หลายคนก็อาจจะลืมไปแล้วหรือแม้แต่ไม่เคยเห็นว่า คนในยุคก่อนหน้านั้น ใช้แผนที่และเข็มทิศในการเดินทางอย่างไร ซึ่งกรณีดรามานายกฯ ประยุทธ์ กับวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็เช่นเดียวกัน
กระทั่งเมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ ระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกในยามปกติล่มหมด (อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยกตัวอย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ไฟฟ้าดับหมด จึงต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์รับข่าวสาร) เมื่อนั้นผู้คนก็จะนึกถึงสิ่งของจำเป็นที่คนยุคเก่าเคยใช้เพื่อเอาชีวิตรอด แต่จะใช้เป็นหรือไม่ก็อีกเรื่องเพราะเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉิน นานๆ จะได้ใช้สักครั้งหนึ่ง)!!!
อ้างอิง
https://www.ready.gov/kit
https://www.weather.gov/lch/noaa
https://www.redcross.org.uk/get-help/prepare-for-emergencies/prepare-an-emergency-kit
https://www.infrastructure.gov.au/media-technology-communications/phone/communications-emergencies-natural-disasters/how-travellers-can-prepare-emergencies-natural-disasters
https://www.soundprogroup.com/
https://www.japantimes.co.jp/japan-disaster-information/earthquake-preparation/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กตู่’คัมแบ็กโชว์‘ร่างนโยบาย’แก้น้ำท่วม ย้ำอย่าขัดแย้ง ห้ามขึ้นป้ายต้อนรับลุยอีสาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี