กอนช.เตือน
เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤตหนัก
ล้นจ่อท่วมขอนแก่น-4จว.
อุตุฯชี้31จังหวัดฝนยังตก
กรุงเก่า-ปทุมฯยังท่วมสูง
กรมชลฯระดมสูบน้ำช่วย
กรมอุตุฯเตือน 31 จังหวัด ฝนยังตก ตะวันออก-กลาง-กทม.-ใต้ กอนช.แจ้ง เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤตน้ำเต็มปรับเพิ่มระบายน้ำ เตือนขอนแก่นและจังหวัดในลุ่มน้ำชี“มหาสารคาม-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด-ยโสธร” เฝ้าระวัง ด้านกรมชลฯ ระดมสูบน้ำช่วยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 4 จังหวัด กรุงเก่าอ่วมน้ำท่วม 2 เมตร ขณะที่ปทุมฯริมเจ้าพระยาน้ำทะลักท่วมวัดสูง
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนน้อย ขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมภาคกลางรวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้
กทม.ฝนตกร้อยละ80ของพื้นที่
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตร กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ภาคใต้ฝนตกร้อยละ70-มีคลื่นสูง
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตรภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตร รวมพื้นที่เฝ้าระวังทั้งหมด 31 จังหวัด
กอนช.เตือนจับตาแม่น้ำชีเอ่อล้น
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ดังนี้ บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง แต่บริเวณภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ทั้งนี้ กอนช.ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 48/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี โดยติดตามปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสามารถระบายออกได้เพียงวันละ 41 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ระดับน้ำเพิ่มจนเกินระดับเก็บกักสูงสุดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับน้ำ +183.35 ม.รทก. สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 1.15 ม.ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 2,878 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 119 มีปริมาตรเกินความจุ 458 ล้าน ลบ.ม.
เตือนเฝ้าระวังน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 49/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้
ปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 ม.รทก. ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 ม.รทก.) เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 ม.รทก.ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900–3,000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90–2.20 ม.รทก.ในช่วงวันที่ 8-13 ตุลาคม 2565
กฟผ.แจ้งเขื่อนอุบลรัตน์วิกฤต
ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีหนังสือถึง กอนช.แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤต หรือสูงกว่าคันดินโนนสังซึ่งเป็นคันดินป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ดังนี้ 1.ระดับน้ำจะสูงถึงระดับเตือนภัย (+183.50 ม.รทก. )ในวันที่ 7 ต.ค.2565
2.ระดับน้ำจะสูงถึงระดับวิกฤต (+184.00 ม.รทก.) ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน กฟผ.จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันเดียวกันนี้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้น และอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำใน อ.อุบลรัตน์ อ.เขาสวนกวาง อ.ซำสูง อ.น้ำพอง และ อ.เมือง จ.ขอนแก่นเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร
กรมชลฯเร่งสูบน้ำช่วยประชาชน
ขณะที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน ที่ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
อย่างไรก็ดี ระยะนี้ยังคงมีฝนตกสะสมกระจายต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชน
กรุงเก่าระดับน้ำสูงจมหลายอำเภอ
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ว่าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 2,872 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านคลองสาขา และแม่น้ำน้อย มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20-30เซนติเมตร รวมถึงเขื่อนพระราม 6 เร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน 1,022 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 30-40เซนติเมตร
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ได้ไหลมารวมกันที่สามแยกท่าน้ำวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้พื้นที่ท้ายน้ำตั้งแต่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร ระดับน้ำยังคงท่วมสูงขึ้นอีกระดับน้ำสูง 2 เมตร
กู้ภัยนำศพชายออกมาอย่างทุลักทุเล
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่บ้านพักในชุมชน พื้นที่หมู่ 6 ต.ตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน มีชายปลิดชีพตัวเอง โดยทางกู้ภัยต้องใช้เรือเข้าไปเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิต ซึ่งทราบชื่อต่อมาคือ นายเฉลิมชัย อายุ 40 ปี สภาพถูกผูกคอไว้ในบ้านพัก คาดว่าก่อเหตุเองโดยสาเหตุน่าจะเกิดจากความเครียดปัญหาส่วนตัว ทางกู้ภัยต้องเข็นศพลุยน้ำออกมาจากชุมชนดังกล่าวอย่างทุลักทุเล เพื่อส่งศพไปชันสูตรที่ รพ.บางปะอิน
ส่วนชุมชนใน ต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชุมชนที่พี่น้องชาวมุสลิมอาศัยอยู่ พบว่าน้ำในคลองขวด ที่รับน้ำจากแม่น้ำลพบุรี ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมในชุมชนอย่างรวดเร็ว ขนย้ายสิ่งของกันไม่ทัน บางจุดน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร ต้องใช้เรือในการสัญจรเข้าออกหมู่บ้านและไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ปทุมฯริมเจ้าพระยาทะลักท่วมวัดสูง
ขณะที่ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ริมน้ำใน จ.ปทุมธานี ขณะนี้ได้รับมวลน้ำหนุนจากพื้นที่สูงไหลบ่าเข้าท่วมในพื้นที่และฝนตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาประมาณ50-130ซม.เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นมาก ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานปทุมธานี1หมู่ 1 ต.บ้านกระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เลาะขึ้นไปถึงอำเภอสามโคก ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะที่วัดโพธิ์เลื่อน ต.บ้านกระแชง น้ำได้เอ่อเข้าท่วมลานวัดสูงกว่า 1 เมตร ประกอบกับสภาพพื้นที่วัดโพธิ์เลื่อนเป็นแอ่งกระทะขณะน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บริเวณวัดทั้งหมด
ทั้งนี้ การประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ต้องงดชั่วคราว เนื่องจากเมรุในการเผาศพได้ถูกน้ำท่วม จนไม่สามารถฌาปนกิจศพได้และพื้นที่ริมน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมตามวัดวาอารามต่างๆ สถานที่ราชการ และบ้านเรือนประชาชนอีกจำนวนมาก
รัฐบาลเปิดตัว‘LINE ALERT’
วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและการเตือนภัยพิบัติของประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนา LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือนภัยพิบัติแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ สอดรับกับรูปแบบชีวิตในยุคดิจิทัล
ช่องทางแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง
นายอนุชาเปิดเผยด้วยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างสรรค์และให้บริการ LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงบนแพลตฟอร์ม LINE ซึ่งเป็นช่องทางในการสื่อสารและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงบริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน โรงพยาบาลใกล้เคียง พื้นที่เสี่ยง และแนวทางการป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ยันพายุเนสารทเข้าไทยข่าวปลอม
ขณะเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวลือพายุลูกถัดไป ‘เนสาท’กำลังก่อตัวในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะกระทบทุกภาคของประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ความคลาดเคลื่อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าจากการติดตามและคาดการณ์ในช่วงวันที่ 9-12 ตุลาคม 2565 จะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอากาศเย็นดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวของพายุ แต่บริเวณยังคงมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะแรก หรือหากมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุ แต่โอกาสที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและมีผลกระทบนั้นมีน้อยมาก และอาจจะอ่อนกำลังลงและสลายตัวก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามได้
ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ โดยหากมีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ประเทศไทยหรือส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะประกาศเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี