เมื่อเร็วๆ นี้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์คาบาเรต์ในสังคมไทย”โดยผู้บรรยายคือ วัชรวุฒิ ชื่อสัตย์ ศิษย์เก่าปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งก่อนหน้านี้วัชรวุฒิ เคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชุมกะเทย : ความซับซ้อนและการประกอบสร้างของอาณาบริเวณทางสังคม” รวมถึงเขียนบทความวิชาการว่าด้วยเรื่องของ “กะเทยไทย” อีกหลายชิ้น
วัชรวุฒิ เล่าว่า คาบาเรต์โชว์ในประเทศไทยมีอยู่หลายกลุ่ม แต่ที่เลือกทำการศึกษานั้นมีอยู่ 3 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนั้นก่อตั้งขึ้นในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 กลุ่มนี้ ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ใน จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ หากนึกถึงกลุ่มหรือคณะคาบาเรต์โชว์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็น่าจะต้องเป็น “มูแลง รูจ (Moulin Rouge)” ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก่อตั้งขึ้นและมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน และเป็นไปได้ว่า เหตุที่สังคมไทยเรียกการแสดงลักษณะนี้ว่าคาบาเรต์ ก็น่าจะมาจากอิทธิพลของมูแลงรูจเช่นกัน
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างคาบาเรต์โชว์อย่างมูแลง รูจ กับคาบาเรต์โชว์ในประเทศไทย คืออย่างแรกนั้นใช้นักแสดงที่เป็นชายจริง-หญิงแท้ไม่ได้ใช้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนอย่างหลัง ซึ่งคำว่า “คาบาเรต์ (Cabaret)” ความหมายแบบดั้งเดิมนั้นหมายถึง “นาฏกรรมหรือรูปแบบการแสดงประเภทหนึ่ง” และ “ไม่ได้มีเพียงการลิปซิงค์ (Lip Sync)” หรือการขยับปากให้เข้ากับเนื้อเพลงที่มีการบันทึกไว้แล้วล่วงหน้า อย่างที่คนไทยคุ้นเคย
“การแสดงคาบาเรต์ใน 1 รอบ มีการร้องเพลง เล่นดนตรี เต้นประกอบเพลง หรือแม้กระทั่งมีการแสดงละครเวที หรือกายกรรมโลดโผน เขาจะเรียกรวมๆ กิจกรรมหลายๆ การแสดง หลายๆ อย่างเป็นคำว่าคาบาเรต์ แล้วในรูปแบบของคาบาเรต์นั้น ภายในโรงละครที่มีการจัดแสดงนั้นจะต้องมีการขายเบียร์ให้ดื่มด้วยในตะวันตก ต่อมามันก็พัฒนาเป็นรูปแบบของโรงละครบ้าง หรือกึ่งโรงละคร หรือว่ากึ่งสถานบริการบาร์เบียร์ แล้วมีเวทีแสดงที่เป็นลักษณะของการแสดงแบบที่หลายๆ อย่างรวมกัน
แล้วจนกระทั่งปัจจุบันที่เราเห็น อันนี้ก็คือใกล้เข้ามาในสังคมไทย คือเราอาจจะเห็นการลิปซิงค์หรือแต่งเลียนแบบต้นฉบับ เราอาจจะได้ยินคำว่าแดร็ก (Drag) ก็คือแดร็กควีน (Drag Queen) ที่มีการแต่งตัว ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่งตัวให้เหมือนกับคนที่เขาสมมุติ ที่ต้องการจะเป็น เราอาจจะเคยเห็น เพราะว่ากระแสแดร็กควีนก็เริ่มเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น”วัชรวุฒิ เล่าถึงพัฒนาการของคาบาเรต์โชว์
ส่วนประวัติศาสตร์คาบาเรต์โชว์ในประเทศไทย วัชรวุฒิ เล่าย้อนไปในปี 2513-2515 ขณะนั้นมี “คณะนางแบบ ปาน บุนนาค” เป็นการโชว์เดินแบบโดย “กะเทย” ตามโรงแรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงมีการแสดงที่คล้ายกับลิปซิงค์ในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคาบาเรต์โชว์ต่อมามีการเกิดขึ้นของ “คณะทิฟฟานี่โชว์”ในตอนแรกอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างในเมืองหลวงยุคทศวรรษ 2510(ปี 2510-2519) ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อธุรกิจกลางคืนมากนัก ทำให้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่พัทยาในปี 2517
การแสดงของ ทิฟฟานี่โชว์ ได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงของต่างประเทศ ตามกระแสนิยมวัฒนธรรมตะวันตกของสังคมไทยในขณะนั้น บวกกับกะเทยเองซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกกีดกันจากสังคมอยู่แล้ว จึงมีความพยายามสร้างกระแสเพื่อหวังให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งนอกจากการจัดการแสดงต่างๆ แล้ว คณะทิฟฟานี่โชว์ ยังมีการจัดประกวด “มิสทิฟฟานี่” และ “มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน” ซึ่งแม้การจัดประกวดแบบนี้จะมีคำถามในประเด็นมาตรฐานความงาม (Beauty Standard)แต่เวทีประกวดดังกล่าวก็สะท้อนหลักคิดการเรียกร้องเสรีภาพ
จากนั้นในปี 2518 หรือ 1 ปี หลังจากคณะทิฟฟานี่โชว์ปักหลักในพัทยา ก็มีการเกิดขึ้นของ “คณะไซม่อนพัทยา” (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2534 และเปลี่ยนชื่อเป็น “ภูเก็ตไซม่อนคาบาเรต์” จนถึงปัจจุบัน) และในปี 2524 ในพัทยายังมี “คณะอัลคาซาร์คาบาเรต์” เกิดขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เมืองพัทยาจึงเปรียบเสมือนถิ่นกำเนิดคาบาเรต์โชว์ในสังคมไทย และการกล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองพัทยาโดยไม่พูดถึงคาบาเรต์โชว์นั้นถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองแห่งนี้ก็มาจากธุรกิจคาบาเรต์โชว์ด้วย
วัชรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การเกิดขึ้นของคาบาเรต์โชว์ในประเทศไทย ยังทำให้กะเทยไทยมีโอกาสพบเจอกับชาวต่างชาติ และได้รับรู้เกี่ยวกับโลกตะวันตกที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย อาทิ ในปี 2532 อันเป็นช่วงปลายสงครามเย็น เยอรมนียังมีกำแพงเบอร์ลินแบ่งประเทศเป็นฝั่งตะวันตกกับตะวันออก มีกะเทยไทยบางส่วนอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองสตุตการ์ท (Stuttgart) และเปิดบาร์เบียร์ชื่อ “สตาร์ไลท์-มองชาลี” บริเวณจัตุรัสสตุตการ์ท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีบาร์เบียร์ดังกล่าวแล้ว
“ปัจจัยของการเคลื่อนย้ายเข้ามาในเมืองพัทยายุคนั้น ก็คือเมืองพัทยาในยุคช่วงปี 2515-2520 มันเป็นช่วงที่มีการพัฒนาจากสุขาภิบาลนาเกลือและยกระดับเป็นเมืองพัทยา มาพร้อมกับนโยบายหาดทรายแล้วก็แสงแดด มันก็เป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยว เป็นเมืองตากอากาศที่คนกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ ไปท่องเที่ยวได้แล้วก็เป็นช่วงสงครามเย็นที่มีทหารเข้ามาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับพื้นที่ของพัทยาเอง พอมีการเข้ามาของคนหลายๆ ชาติ มันทำให้เป็นพื้นที่ที่ทันสมัย ได้รับแนวคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายแล้วก็เรื่องความเสมอภาคที่มาพร้อมกับทหารในยุคนั้น แล้วมันก็เป็นการขยายโอกาสให้กับกะเทยที่ต้องการเสี่ยงโชคเดินทางไปต่างประเทศ” วัชรวุฒิ ระบุ
วัชรวุฒิ วิเคราะห์อัตลักษณ์ของคาบาเรต์โชว์ทั้ง 3 คณะ 1.ทิฟฟานี่โชว์ ตั้งแต่ตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึง “ครึ่งชาย-ครึ่งหญิง” อันเป็นการอธิบายลักษณะของกะเทยในยุคที่เริ่มก่อตั้งคณะ ส่วนความหมายของคำว่าทิฟฟานี่ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก “เพชรทิฟฟานี่ (Tiffany Yellow Diamond)” อันเป็นชื่อเพชรสีเหลืองของบริษัทค้าเพชรในทวีปยุโรป จึงเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า “กะเทยเป็นเพชรที่มีคุณค่า” ในยุคที่ประเด็นความหลากหลายทางเพศยังอยู่ในความมืด
ทิฟฟานี่โชว์มีการพัฒนาการแสดงมาตลอดจนช่วงหนึ่งมีชื่อเสียงติด 1 ใน 10 โชว์ระดับโลกเลยทีเดียว และมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เช่น ในยุคแรกๆ ของการแสดง มีการใช้คำโฆษณาว่า The Original Transvestite Cabaret Show ซึ่ง Tranvestite ในอดีตเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบเพราะจัดเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น The Original and Formal Cabaret Performers ขณะที่คำว่า Tranvestite ในเวลาต่อมาในทางการแพทย์ก็ถูกถอดออกจากบัญชีโรคทางจิตเช่นกัน
เช่นเดียวกับการแสดง คาบาเรต์โชว์ในประเทศไทยจะแตกต่างจากคาบาเรต์โชว์รูปแบบดั้งเดิมในโลกตะวันตก โดยเน้นไปที่การลิปซิงค์และการแสดง ไม่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงมหรสพ และปรับเปลี่ยนการแสดงไปตามกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ผสมผสานกับการศิลปวัฒนธรรมไทย ส่วนการประกวดมิสทิฟฟานี่นั้น เริ่มต้นขึ้นในปี 2518 แต่รายการประกวดที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการจริงๆ เกิดขึ้นในปี 2541 ขณะที่เวทีมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีนนั้นเริ่มครั้งแรกในปี 2547
2.ไซม่อนคาบาเรต์ คำว่า “ไซ” มาจาก “ไทร” หรือ “ชัย” หมายถึง สุชัย รวยรินผู้ก่อตั้งคณะ บวกกับคำว่า “ม่อน” ที่มาจากคำว่า “ไดมอนต์ (Diamond)” ที่แปลว่าเพชร เพื่อให้ชื่อคณะดูมีความเป็นตะวันตก อีกทั้งเป็นการสื่อความหมายว่า กะเทยเปรียบเหมือนเพชร ดอกไม้หรือดวงดาว หมายถึงมีคุณค่า อนึ่ง สำหรับที่ไซม่อน ในยุคที่ยังทำการแสดง ณ เมืองพัทยามีนักแสดงกะเทยบางส่วนมองเห็นโอกาส จึงเดินทางไปเปิดการแสดงในยุโรป ในยุครุ่งเรืองนั้น ไซม่อนคาบาเรต์ มีสาขาทั้งพัทยา เชียงใหม่ แม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ภูเก็ตเพียงแห่งเดียว
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า “แผ่นพับประชาสัมพันธ์คาบาเรต์โชว์ (ไม่ว่าคณะไหนก็ตาม) จะใช้ภาษาต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าอังกฤษ จีน เกาหลี อาหรับ ฯลฯ แต่หาภาษาไทยยากมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้ชมโชว์ลักษณะนี้มักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย” ขณะที่รูปแบบการโชว์ จะเป็นการจัดแบ่งเป็นวัฒนธรรมหลากหลายชาติ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว
และ 3.อัลคาซาร์ คาบาเรต์ ที่มาที่ไปของชื่อคณะยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน โดยคำว่า“อัลคาซาร์” น่าจะสื่อถึง “ปราสาทใหญ่โตโอ่โถงสวยงาม” ซึ่งมีสถานที่ชื่ออัลคาซาร์ (Alcazar) และมีลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่ ณ ประเทศสเปน และนอกจากการจัดการแสดงแล้ว อัลคาซาร์ยังมีเวทีประกวดนางงาม “มิสอัลคาซาร์” อีกด้วยในช่วงสั้นๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2539 ต่อมาในปี 2548 เปลี่ยนชื่อเวทีเป็น “มิส APSA” แต่จัดประกวดได้จนถึงปี 2549 ก็ยุติไป
แม้จะหาข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก แต่ในตอนท้าย วัชรวุฒิ ก็ยังย้ำว่า ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากเป็นการรวบรวมจากหลักฐานเท่าที่จะสามารถค้นหาได้ในปัจจุบัน ดังนั้นหากในอนาคตมีหลักฐานใหม่เพิ่มเติมก็อาจจะนำมาแก้ไขข้อมูลที่นำเสนอนี้ได้ต่อไป!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี