ตั้งข้อสังเกตกฎกระทรวง! ทำ'น้ำเมา'ดื่มเอง เหตุใดต้องขออนุญาต-คุมคุณภาพ กำหนดผลิตขั้นต่ำรายย่อยเกิดยาก
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะแอดมินเพจ "Surathai" เครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อยระดับท้องถิ่น กล่าวผ่านเพจของตนเมื่อค่ำวันที่ 2 พ.ย. 2565 หรือไม่กี่ชั่วโมงหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แพ้ไปเพียง 2 เสียง บางคนอาจจะเสียดายเพราะร่วมผลักดัน แต่ในเมื่อไม่ผ่านก็ต้องสู้กันต่อไป
โดยตนก็ได้บอกกับ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ที่ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภา ว่า ฝ่ายที่ชนะเขาชนะด้วยคะแนนน้อยกว่าที่คิดไว้ จากที่ต้องการชนะอย่างถล่มทลายเพื่อแสดงศักยภาพก็ไม่สามารถชนะได้ นั่นเพราะรัฐบาลไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ในเมื่อร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่ผ่าน ก็ต้องใช้กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565
ซึ่งก็เป็นเรื่องมหัศจรย์มาก เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามขอให้แก้กฎกระทรวงกันมานานก็ไม่เคยแก้ อ้างเหตุผลต่างๆ นานา ชะลอตั้งแต่ปี 2564 กระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 พ.ย.2565 และมีผลบังคับใช้วันที่ 2 พ.ย.2565 เรื่องนี้ตนมองว่าเพื่อให้บรรดา ส.ส.ที่จะยกมือโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า สามารถนำไปชี้แจงกับประชาชนได้ว่ามีกฎกระทรวงแล้วและเป็นกฏกระทรวงที่ออกมาดีด้วย
โดยตนได้เปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 รวมถึงกับกฎกระทรวงฉบับ พ.ศ.2560 ที่มีข้อเรียกร้องให้แก้ไขเนื่องจากมองว่าไม่เป็นธรรม เช่น กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ ซึ่งตนก็ตั้งข้อสังเหตว่าเหมือนกับการปลดกุญแจมือออกแต่ย้ายไปตีตรวนที่เท้าแทน เช่น กฎกระทรวงที่ออกมาใหม่แม้จะยกเลิกข้อกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำในการผลิตเบียร์ แต่ก็ระบุข้อกำหนดเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงเครื่องยิงอากรแสตมป์อัตโนมัติ และระบบมาตรวัดภาษีส่งตรงเข้าระบบของกรมสรรพสามิต
ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน มีข้อสังเกตว่า กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 แม้จะอนุญาตให้ทำได้ จากเดิมที่กฎกระทรวงฉบับ 2560 ไม่อนุญาตและเคยมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ก็ยังกำหนดว่าให้ผลิตได้ไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี หากเป็นการเป็นผลิตเบียร์ก็ไม่น่าจะพอดื่ม นอกจากนั้น หากดูบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า การออกกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต ต้องไม่กำหนดอย่างเกินความจำเป็นหรือพร่ำเพรื่อจนเกินไป
"การอนุญาตจะต้องไม่เป็นภาระประชาชน แค่คุณทำผัดกระเพรากินเองที่บ้านคุณต้องไปขออนุญาต คุณจะทำน้ำชาดื่มที่บ้าน คุณจะชงกาแฟ คุณต้องไปวิเคราะห์คุณภาพ ก็ทำกินเองคุณจะมาอะไรกับเรา จะกินอะไรมันเรื่องของผมหรือเปล่า แล้วมาวิเคราะห์คุณภาพเพื่ออะไร มาตรา 77 อยู่ในวรรคสาม รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ ถ้าจะต้องมีคณะกรรมการ เฉพาะกรณีจำเป็น ทำเบียร์กินเองจำเป็นไหมที่ต้องไปขออนุญาต แล้วต้องไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ" ผศ.ดร.เจริญ กล่าว
ผศ.ดร.เจริญ กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ยังระบุให้ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และต้องมีระยะเวลาดำเนินการขอนุญาตให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปขออนุญาตแล้วเจ้าหน้าที่บอกให้รอไปก่อนเพราะยังไม่มีหลักเกณฑ์การอนุญาตออกมา ดังกรณีของ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 แม้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2565 แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมขออนุญาตผลิตเพื่อบริโภคเองในครัวเรือนหรือไม่และในอัตราใด จะแพงกว่าไปซื้อมาดื่มหรือไม่
ประเด็นต่อมา แม้กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสุราชุมชนเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 แรงม้า เป็นไม่เกิน 50 แรงม้าได้ แต่ยังอนุญาตเฉพาะการผลิตเหล้าขาวเท่านั้น ส่วนสุราแช่ซึ่งเบียร์อยู่ในกลุ่มนี้ ข้อสังเกตคือ ด้านหนึ่งมีการเพิ่มคำว่า "หรือใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ตามมาตรฐานที่อธิบดีกำหนด" ซึ่งมาจากบรรดาคนในวงการเบียร์ขอให้เพิ่มเข้าไปและทางกรมสรรพสามิตก็รับฟัง เพื่อให้เข้ากับรูปแบบการประกอบการแบบ "บริวผับ (Brew Pub)" นอกจากเหนือการผลิตในโรงงานแบบเดิม
แต่อีกด้านหนึ่ง ยังมีการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรงอุตสาหกรรมสุรา ทั้งที่บริวผับอาจไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานในนิยามของกระทรวงอุตสาหกรรม อนึ่ง ข้อกำหนดเรื่องสาธารณสุขอาจเกี่ยวกับอาชีวอนามัย หรือข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจเกี่ยวกับการต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง คำถามคือ ด้วยข้อกำหนดแบบนี้บริวผับจะสามารถเปิดในเขตชุมชนได้หรือไม่ หรือให้เปิดได้เฉพาะในเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
ทั้งนี้ กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากกฎกระทรวงฉบับใหม่มากที่สุดคือกลุ่มผู้ประกอบการบริวผับ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะเกิดบริวผับที่ลงทุนไม่มาก ใช้เงินเพียงล้านกว่าบาทขึ้นมา แต่สิ่งที่อยากย้ำคือประเด็นการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำในการผลิตเหล้าที่กฎกระทรวงฉบับใหม่ก็ยังมีอยู่ ตนอยากถามว่าเมื่อไรจะเลิกกำหนดเสียที แต่ก็เชื่อว่าคงเลิกไม่ได้ เพราะสุราชุมชนกระจายอยู่ในท้องถิ่น หากปล่อยให้ทำได้คงไปแย่งผลประโยชน์ของนายทุนจนหมด
"นอกเหนือจากบรั่นดี วิสกี้ ยิน ซึ่งมี 3 อย่าง นอกเหนือจากนั้นคืออะไร รัม สุราขาว ว็อดก้า สุราพิเศษตัวอื่น เช่น ยาดอง เซี่ยงชุน อะไรตระกูลนั้น เพราะว่ามันไม่ใช่บรั่นดี วิสกี้ ยิน เขาระบุเลย 3 อย่างนี้ ให้ (กำลังผลิตขั้นต่ำ) แค่ 3 หมื่นลิตร แต่นอกเหนื่อจากนั้น คุณอยากจะทำว็อดก้าใช่ไหม ฉันอยากจะทำเหล้าใสๆ เป็นว็อดก้าไม่มีกลิ่นอะไรเอไว้ทำค็อกเทล ไมได้ คุณต้องทำ 9 หมื่นลิตร" ผศ.ดร.เจริญ ระบุ
ชมคลิปได้ที่ https://www.facebook.com/surathai.net/videos/1265207940968401/
ดูการเปรียบเทียบระหว่างร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ได้ที่ https://surathai.wordpress.com/2022/11/01/compare-ministerial-rules/
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี